การวิ่งเป็นการออกกำลังกายประเภทหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน และวันนี้เทรนด์ “Virtual Run” การวิ่งเสมือนจริงที่ตอบโจทย์หลายชีวิตได้เป็นอย่างดี โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด
นพ.กรกฎ พานิช แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์การกีฬา แนะนำว่า ใครที่สนใจการวิ่ง Virtual Run หรือเป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มวิ่ง ควรรู้ถึงเคล็ดลับดีๆ สำหรับนักวิ่งมือใหม่ ก่อนลงแข่งขันจริง เพื่อให้วิ่งได้อย่างสนุก สุขภาพดี และมีความปลอดภัย
เริ่มจาก Virtual Run คือ การวิ่งแข่งที่ผู้เข้าร่วมต้องลงทะเบียนออนไลน์ และออกไปวิ่งเพื่อทำระยะทางให้ถึงตามที่กำหนด จะวิ่งที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ จากนั้นอัพโหลดข้อมูลการวิ่งให้กับฝ่ายผู้จัด เป็นการแข่งกับตัวเอง ข้อดีคือนักวิ่งสามารถจัดตาราง วันเวลาวิ่งของตนเองได้ ทำให้หลายคนคาดหวังว่าจะได้ผลดีต่อสุขภาพ เช่น ไขมันลดลง น้ำหนักลดลง รูปร่างดีขึ้น ในช่วงที่ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนในช่วงนี้ แต่ผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้จะตรงใจหรือไม่ ต้องอาศัยระยะเวลา
นพ.กรกฎ แนะนำด้วยแนวทางเตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนแข่ง Virtual Run ด้วยว่า 2-4 สัปดาห์ ก่อนลงแข่ง ต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยแล้วต้องการร่วมแข่งขัน ก่อนลงแข่งประมาณ 2-4 สัปดาห์ ต้องเริ่มต้นออกกำลังกายให้มีระดับความเหนื่อย สำหรับผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกาย หรือมีโรคประจำตัว หรือปวดเข่า ปวดหลังไม่ควรเพิ่มระยะเวลาเกินกว่า 50 % จากที่ทำได้ เพราะอาจทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อและหัวใจทำงานหนักเกินไป อาจจะเกิดอันตรายหรือบาดเจ็บได้
นอกจากนั้นควรวางแผนเรื่องโภชนาการเพราะการออกกำลังเพื่อให้ได้ประโยชน์ต้องทำควบคู่ไปกับการได้รับสารอาหารที่เหมาะสมต่อนักวิ่ง โดยก่อนวิ่งควรได้รับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ส่วนหลังวิ่งควรได้รับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรต และโปรตีน ถ้าเราวิ่งในโซน 2-3 โดยปกติร่างกายของเราใช้ทั้งไขมันและคาร์โบไฮเดรตเป็นพลังงานหลัก ถ้าออกกำลังกายไม่ถึงชั่วโมง ก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตก่อนออกกำลังกายมากนัก หากจะรับประทานคาร์โบไฮเดรต เช่น ขนมปัง 1-2 แผ่น (80 แคลอรี/แผ่น) หรือ นม 1 กล่อง (70-140 แคลอรี/กล่อง) ที่รวมแล้วให้พลังงานประมาณ 100-200 แคลอรี ก่อนการวิ่งประมาณ 1 ชั่วโมง จะช่วยให้ร่างกายมีพลังงานเพียงพอที่จะวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อออกกำลังกายเสร็จก็ควรรับประทานทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนเพื่อฟื้นฟูกล้ามเนื้อที่ถูกใช้ไป หากละเลยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้การฟื้นตัวช้าและอาจเกิดการบาดเจ็บ ภูมิต้านทานลดลง ในกรณีที่ไม่มีเวลาจัดเตรียมอาหาร การรับประทานสารอาหารชนิดชงละลายน้ำ ที่มีส่วนผสมทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เช่น เฮอร์บาไลฟ์ นิวทริชั่น โปรตีนเชค ก็จะช่วยให้สะดวกมากยิ่งขึ้น
ส่วนอุปกรณ์วิ่งสำคัญคือการเลือกรองเท้าและชุดที่ใส่วิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ชุดควรเลือกแบบที่ใส่แล้วสบายตัว ไม่ใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นเกินไป รองเท้าควรเลือกใส่รองเท้าสำหรับวิ่ง ไม่ควรใส่รองเท้าใหม่เป็นเวลานานเพราะรองเท้าอาจจะกัด การใส่รองเท้าแฟชั่น อาจไม่สามารถรับและกระจายแรงกระแทกได้ดี อาจเกิดปัญหาการบาดเจ็บได้
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านออร์โธปิดิกส์ฯ ยังแนะนำวิธีรับมืออาการบาดเจ็บด้วยว่า ในกรณีที่เดินหรือวิ่งเกินกำลังของกล้ามเนื้อแล้วเกิดอาการปวด เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเข่า(แต่ไม่บวม อักเสบ) ปวดเท้า มักเป็นในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น หากปวดไม่มาก แค่ตึงๆ การบรรเทาอาการเบื้องต้น ให้ใช้ความเย็น หรือหากมีอาการบวม ให้ยกเท้าวางสูงเช่นวางเท้าบนหมอน โดยทั่วไปอาการปวดมักจะทุเลาลงใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน หากหายเจ็บก็กลับไปวิ่งได้ แต่อย่ารีบเพิ่มระยะทาง จะเพิ่มระยะทางได้ในครั้งถัดไปก็ต่อเมื่อพบว่าในวันรุ่งขึ้นหลังจากวิ่งจะรู้สึกแค่ตึงๆกล้ามเนื้อเล็กน้อย ไม่รู้สึกเจ็บ แต่ในกรณีเจ็บหรือปวดมากขึ้นเรื่อยๆ ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับการรักษาที่เหมาะสม
สำหรับมือใหม่ หากไม่อยากมีปัญหาบาดเจ็บ จำเป็นต้องเตรียมตัว และฝึกฝนก่อนลงแข่งขัน เพราะถ้าไม่เคย เดินหรือวิ่งอย่างสม่ำเสมอแล้วไปลงแข่งทันที อาการบาดเจ็บเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน