‘ยิ่งลักษณ์’ เปิดใจนาทีวิปโยค 10 ปีมหาอุทกภัย น้ำท่วมใหญ่ปี 54 บอกโดนด่าเยอะแต่ท่องว่าต้องอดทน บ่นเสียดายที่ทั้งแผนอนาคตประเทศไทยและแผนบริหารจัดการน้ำต้องถูกระงับ
เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 18 ต.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เผยแพร่คลิปวีดีโอ หัวข้อ “น(า)ทีวิปโยค : 10 ปีมหาอุทกภัย” โดยเป็นการสัมภาษณ์น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายปลอดประสพ สุรัสวดี และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และนางทวิดา กมลเวชช ผู้เชี่ยวชาญด้ายการจัดการภัยพิบัติ และคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงสถานการณ์อุกทกภัยเมื่อปี 54
โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนั้นต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ของอุทกภัยไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 70 ปี พี่น้องประชาชนเห็นว่า เห็นว่ายิ่งลักษณ์ทำอะไร วันนั้นยอมรับว่ามันเยอะจริงๆมันมันจมมาเลย ยิ่งกว่ารับน้อง ไม่อยากได้อุทกภัยแบบนี้ที่เกิดขึ้นในประเทศอีกแล้ว ประเทศไทยพอแล้ว
ตอนนั้นรู้แล้วถ้าใครจำได้ ตอนช่วงหาเสียง 49 วัน น้ำมาแล้วพายุมาแล้ว ตอนช่วงหาเสียง 49 วัน น้ำมาแล้ว พายุมาแล้วซึ่งจริงๆตามหลักต้องเริ่มระบาย เพราะปริมาณน้ำฝนเข้ามาในปริมาณมาก จากนั้นเมื่อได้รับตำแหน่ง เราชนะการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคือเรายังไม่มีอำนาจในการบริหารประเทศ จนกว่าจะแถลงนโยบายสู่รัฐสภา คือวันที่ 23 ส.ค.นั่นคือน้ำในเขื่อนหลักๆเกิน 100 เปอร์เซ็นต์หมดแล้ว เราพยายามจะคลายลง ลองนึกดู สมมุติถ้าน้ำมาจากท่อ ปกติน้ำจะไหลมาจากต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ แต่ลักษณะของอุทกภัยที่ผ่านมามันเหมือนเป็นกรวยแท่ง คือพอมาถึงปลายกรุงเทพ การระบายมันเหลือนิดเดียว ทางกทม.เองก็ไม่อยากให้ระบาย เพราะถ้าเขาไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับเรื่องอุทกภัย ฉะนั้นเขาก็เป็นห่วง ระบายเร็วก็ไม่ได้ เพราะอะไร เพราะเจอในเรื่องของขยะ ผักตบชวาที่เราจะเห็นว่าเรามาช่วยกันขุดลอกคูคลองด้วย เพราะปริมาณน้ำมันออกไม่ได้ แล้วการระบายมันไม่สามารถทำได้คนเดียว หนึ่งก็คือทางผู้ว่าฯ ใช่มั๊ยคะ
สองเรื่องของการที่กรมชลประทานในการคุมกุญแจ เรื่องของประตูน้ำ มันจะมีหลายส่วนเหลือเกินคือไปที่หนึ่งคนเปิดกุญแจไม่อยู่ ผังเมืองก็มีกฎหมายตัวหนึ่ง คมนาคมเวลาจะเวนคืนถนนก็อีกกฎหมายหนึ่ง ฉะนั้นเวลาจะทำก็คร่อมกันอะไรกัน ซึ่งจริงๆแล้วต้องกลับมาบูรณาการกัน ทำให้พร้อมกันให้ได้ ณ.วันนั้นมันไม่มีเลย กฎหมายก็คนละตัว ต่างคนต่างทำ เลยวุ่นวายไปหมด ตอนนั้นตั้งศูนย์ภายใน 7 วัน ก็ใช้อาชีพเก่า เรียกว่าเป็นสิ่งที่เราเคยทำเรื่องของการบริหารจัดการ เราใช้วิธีดึงศักยภาพที่มีอยู่ขององค์การโทรศัพท์และบริษัทเครือข่ายทั้งหมด มาทำเป็นคอลเซ็นเตอร์เปิด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดเพราะเป็นความตายความเสี่ยงของพี่น้องประชาชน เราพักไม่ได้ และตอนนั้นใครจำได้ ตอนนั้น นนทบุรีน้ำท่วมหมดทั้งหมู่บ้าน เราใช้วิธีการจัดวางเส้นทางการรับส่งของ รับบ้านนี้ 5-6 คน มีการอพยพคนออกมา แล้วขอความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งหมด
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนั้นเมื่อรู้ว่านายอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น จะมา คือเขาไม่ได้นัดหรอกส่วนตัวไม่ได้นัด แต่รู้จากนักข่าวว่าหมายกำหนดการคุณอภิสิทธิ์จะมาเยี่ยมศูนย์ ศปภ.ก็เอาเลย ถ้าคุณอภิสิทธิ์มา ก็ดีซิ เพราะถือว่าเป็นผู้นำฝ่ายค้าน พี่ก็เดินเข้าไปหาเลย แล้วก็เชิญคุณอภิสิทธิ์เข้ามาดูแผนของเรา เล่าให้ฟังว่าเราทำอะไร และแกก็มีคอมเมนต์มา ก็ฟังร่วมกันแล้วก็ให้นักวิชาการรับเรื่องไว้ ให้ทางฝ่ายเทคนิค คือฝ่ายวิชาการเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าสิ่งที่คุยเป็นอย่างไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็คือเล่าให้ฟังว่าเราทำอะไรอยู่
ตอนนั้นที่เข้าไปเรายังใช้งบประมาณของรัฐบาลที่ผ่านมา รู้สึกจะเหลือไว้ที่ 2-3 หมื่นล้านบาท ที่ใช้ได้ เราก็ใช้ไปก่อนเพื่อช่วยเหลือประชาชนเท่าที่เราจะทำได้ แล้วมาเร่งในการทำงบประมาณในปีถัดไป ตอนแรกก็บอกว่าขอให้ทุกหน่วยตั้งงบฯเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ แต่ไม่มีใครตั้งเลยจึงใช้วิธีเร็วที่สุด โดยการตัดงบประมาณ 10% ของแต่ละกระทรวงมาเลย จึงได้งบฯ 1.3 แสนล้านบาท เข้ามาเป็นงบในการฟื้นฟูและดูแลและช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องประชาชนแบบเร่งด่วน ไม่ว่าจะเกษตรกร แรงงาน และอุตสาหกรรม เราเยียวยาทั้งหมด เราช่วยเรื่องของดอกเบี้ย ประสานงานกับธนาคารที่จะให้ดอกเบี้ยพิเศษ ลดหนี้ให้เกษตรกร เอาทุกอย่างมารวมกันหมดเลย
“โอ๊ย โดนด่าเยอะค่ะ เรื่องโดนด่ามันคงเป็นปกติมั้งคะเนี่ย เพราะว่าในฐานะของการเป็นผู้นำ ความคาดหวังสูง และเป็นบุคคลสาธารณะ โดนเยอะเหมือนกัน ท่องไว้คำเดียว อดทน อดทน ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด ช่วยเหลือชีวิตคน แต่เราก็เห็นใจคนที่ประสบปัญหา เพราะว่าบางคนเขาก็รอ รอการช่วยเหลือ แล้วบางทีทุกอย่างมันไม่ได้ดั่งใจ ก็อย่างที่บอกว่าเราไม่เคยเตรียมพร้อมกับการเกิดวิกฤตมหาอุทกภัยขนาดนี้ ฉะนั้น บ้านเมืองไม่ถูกเตรียมพร้อม แม้แต่การฝึกกำลังคน อุปกรณ์ที่ใช้ภาคสนามบางอันก็ชำรุดทรุดโทรม แม้กระทั่งคลอง กทม. เราก็ไม่เคยขุดลอกคูคลอง งบประมาณในการขุดลอกไม่เคยจัด แต่ตั้งแต่ตอนนั้นมารัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็จัดให้ตลอด พอหลังจากจบเยียวยาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ประเทศที่เสียหายเราต้องทำอย่างไรให้เศรษฐกิจพลิกฟื้น เราก็ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศไทย นอกจากนี้ ยังคิดเรื่องการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบอย่างยั่งยืน งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว รวมไปถึงการแก้ปัญหาน้ำแล้งด้วย แต่น่าเสียดายที่ทั้งแผนอนาคตประเทศไทยและแผนบริหารจัดการน้ำต้องหยุดชะงักลง แผนทั้งหมดมีหมดแล้ว แต่ถูกระงับไป” น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยว่า จากยิ่งลักษณ์วันนั้นเปลี่ยนไปเยอะ เราก็เข้มแข็งขึ้น เจอเหตุการณ์แบบนี้ วันนี้ยังเหมือนยังเป็นฝันที่เพิ่งตื่นจากฝันอยู่เลย เราเข้มแข็งขึ้น อดทนมากขึ้น แล้วก็เห็นปัญหาความทุกข์ของประชาชนมากขึ้นในยามที่เขาเกิดปัญหา และเขาหาที่พึ่งจากใครไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่รู้สึก และเรารู้สึกว่าเราอยากเอาใจเข้าไปนั่งอยู่ตรงนั้น เราก็จะรู้ว่าเขาทุกข์แค่ไหน เราจึงพยายามทำงานให้เร็วมากที่สุด สุดท้าย ตนขอฝากกำลังใจให้พี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาเรื่องอุทกภัยในวันนี้ ก็ขอให้อดทน หวังว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปด้วยดี เราไม่อยากเห็นปัญหานี้เกิดขึ้นอีกแล้ว ตนเข้าใจและรับรู้ความรู้สึกของพี่น้องประชาชน เพราะเราเคยอยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทุกครั้งตนนอนไม่หลับ ผวา เพราะรู้ว่าพี่น้องประชาชนจะรู้สึกอย่างไร ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ วันนี้ทำได้อย่างเดียวคือเป็นกำลังใจให้พี่น้องประชาชน ให้ทุกคนอดทน แล้ววันเวลาต่างๆที่เลวร้ายนั้นจะผ่านไป