วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightคนไทยฉีดวัคซีนทั่วประเทศ72ล้านโดส บุคลากรการศึกษาฉีด85%ถึงเปิดเรียน
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

คนไทยฉีดวัคซีนทั่วประเทศ72ล้านโดส บุคลากรการศึกษาฉีด85%ถึงเปิดเรียน

ไทยฉีดวัคซีนแล้ว 72 ล้านโดส เฉพาะ “เด็กนร.” ได้วัคซีนเข็มแรกแล้ว 40 ล้านคน “สธ.” ตั้งเป้าให้ครู-บุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับฉีดวัคซีน 85% ก่อนเปิดให้เรียนในร.ร.ได้ ส่วนยอดฉีดวัคซีนในชายแดนใต้เริ่มกระเตื้อง

เมื่อวันที่ 27 ต.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงว่า จำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา มีเพิ่มขึ้น 812,009 โดส ทำให้ยอดรวมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-26 ต.ค.2564 มีทั้งสิ้น 72,049,529 โดส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 40,717,544 ราย, เข็มที่ 2 จำนวน 29,115,651 ราย, เข็มที่ 3 จำนวน 2,216,334 ราย ทั้งนี้กรณีของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขอให้มารับการฉีดเข็มกระตุ้นได้ ส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนกา ครบ 2 เข็มแล้ว ตั้งแต่เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ขอให้มารับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้ทันที เพราะตอนนี้มีวัคซีนมีปริมาณเพียงพอ

พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า กรณีการฉีดวัคซีนให้นักเรียน-นักศึกษาที่มีอายุระหว่าง 12-17 ปี ตอนนี้มียอดรวมผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว 40,717,544 คน คิดเป็น 56.5 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 72,034,775 คน อย่างไรก็ตาม เราตั้งเป้าหมายการเร่งฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย โดยที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (อีโอซี) มีมติตั้งเป้าหมายว่าการจะเปิดการเรียนการสอนในสถานศึกษาได้นั้น ต้องมีจำนวนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 85 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สำรวจแล้วพบว่ายังมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนอีก 131,238 คน

พญ.สุมนี กล่าวด้วยว่า สำหรับจำนวนผู้ที่ได้รับวัคซีนในจังหวัดนำร่องเที่ยวโซนสีฟ้านั้น โดยเข็มที่ 1 อย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพื้นที่ที่ฉีดครบตามเป้าแล้ว คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ระยอง ตราด บุรีรัมย์ กระบี่ พังงา และระนอง ส่วนที่เข้าใกล้ครอบคลุมประชากร 50 เปอร์เซ็นต์ คือ จ.เลย หนองคาย และอุดรธานี ส่วนกลุ่ม 608 ในพื้นที่สีฟ้ามีจำนวนอยู่ที่ 75.3 เปอร์เซ็นต์ จึงยังต้องขอให้เพิ่มจำนวนกลุ่มนี้ให้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศ ส่วนใน 4 จังหวัดชายแดนใต้ จังหวัดที่ครอบคลุมการฉีดเข็ม 1 เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ คือ จ.สงขลาและยะลา ส่วน จ.นราธิวาสและปัตตานี มีจำนวนเพิ่มขึ้น โดย จ.นราธิวาส 43.9 เปอร์เซ็นต์ และจ.ปัตตานี 45.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ความครอบคลุมการฉีดให้กลุ่ม 608 เฉลี่ย 59.4 เปอร์เซ็นต์

พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า การประชุมอีโอซีและ ศบค.ส่วนหน้าที่ดูแลพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ มีมติเห็นชอบให้เร่งรัดครอบคลุมวัคซีนเพิ่มขึ้นประชาชนทั่วไป กลุ่ม 608 นักเรียนนักศึกษา และแรงงานในพื้นที่ โดยร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ในการสร้างความเข้าใจด้วยการใช้ภาษาพื้นถิ่น ผ่านหอกระจายข่าว สถานีวิทยุ และแผ่นพับ รวมถึงได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนา อีกทั้งต้องมีการจำกัดวงไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปในระดับครอบครัวชุมชน ตลาด สถานประกอบกิจการ อาทิ ร้านอาหาร ร้านน้ำชา ทั้ง 2 เรื่องนี้ดำเนินการหลักๆ โดยรถพระราชทานชีวนิรภัย โมบายวัคซีน ใช้ระบบซีซีอาร์ทีลงพื้นที่ ทำแผนดำเนินการเชิงรุกแต่ละจังหวัด โดยการเสียชีวิตของ 4 จังหวัดชายแดนใต้มีภาพรวมคล้ายกับการเสียชีวิตของประเทศ

พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนการปรับระบบการลงทะเบียนสำหรับผู้ที่มาจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทย จากเดิมที่ใช้ระบบการลงทะเบียนออนไลน์ขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (ซีโออี) มาเป็นระบบ “ไทยแลนด์ พาส (Thailand Pass)” นั้น กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้แจงรายละเอียดแพลตฟอร์มนี้ไปแล้ว มีการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ต่างๆ และแจ้งรายละเอียดไปยังสถานเอกอัครราชทูตไทยทุกแห่ง ซึ่งผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย สามารถสอบถามเรื่องนี้ได้จากสถานเอกอัครราชทูตไทยในประเทศที่ตัวเองอยู่

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img