“ไพบูลย์”ชี้คำวินิจฉัยศาลถึงที่สุด จี้กกต.ตรวจสอบพรรคการเมือง-นักการเมือง เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ ด้าน”คำนูณ” อย่าเหมารวมนักการเมืองร่วมม็อบ แนะแยกเป็นกรณีจากพยาน-หลักฐาน แยกรายกรณี
วันที่ 10 พ.ย.64 นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งให้ข้อเสนอการปฏิรูปสถาบันของแกนนำคณะราษฎร เข้าข่ายการกระทำที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้เลิกการกระทำ รวมถึงการกระทำของเครือข่าย ว่า คำวินิฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นเชื่อว่าจะทำให้เกิดความมั่นคงในสถาบันของชาติ และผลคำวินิจฉัยดังกล่าวจะมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรทั้งตำรวจ, อัยการ และศาลยุติธรรมด้วย
ดังนั้นในความเห็นทางกฎหมายตนมองว่าหากพบบุคคลที่กระทำพฤติกรรมตามที่ศาลวินิจฉัย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะพิจารณาว่ามีพรรคการเมืองใดที่มีพฤติกรรมเข้าข่ายด้วยหรือไม่ เพราะจะโยงกับลักษณะของมาตรา 92(1) และ (2) ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่มีผู้เตรียมเสนอให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นต้องพิจารณารายละเอียดว่ามีผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์หรือไม่
เมื่อถามว่ากรณีที่ก่อนหน้านี้มีนักการเมืองเข้าร่วมการชุมนุมจะเข้าข่ายเป็นพฤติกรรมตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยจะมีความผิดด้วยหรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน คือ กกต.ต้องพิจารณา แต่จะเข้าข่ายผิดหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณี โดยทางกฎหมายนั้นตนมองว่ามีฐานที่พิจารณาได้คือ ความผิดตามกฎหมายอาญา และ ผิดจริยธรรมของนักการเมือง ที่กำหนดให้เป็นค่านิยมหลัก ต่อการยึดมั่นและธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. กล่าวว่า ว่า คำวินิจฉัยดังกล่าวถือว่าเป็นที่สุด และมีผลผูกพันกับทุกองค์กร ให้ปฏิบัติตาม ส่วนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ยุติการกระทำ ไม่ใช่เฉพาะผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน เท่านั้น ยังรวมถึงองค์กรเครือข่ายด้วย และไม่ใช่ให้ยุติการกระทำเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เท่านั้น แต่รวมถึงเหตุการณ์ต่อเนื่องและสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
เมื่อถามว่าคำวินิจฉัยของศาลมีผู้มองว่าขัดขวางเสรีภาพประชาชน นายคำนูณ กล่าวว่า การใช้สิทธิเสรีภาพตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ต้องไม่เป็นสิทธิเสรีภาพที่มีผลล้มล้างการปกครองในระะบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และใครที่พบเห็นสามารถยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามกระบวนการ และศาลมีอำนาจให้ยุติการกระทำได้เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำตามที่ร้องมานั้น เป็นสิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครอง จึงถือว่าเข้าข่ายมาตรา 49 หากจะใช้สิทธิเสรีภาพเรื่องอื่นสามารถใช้ได้ แต่การใช่เสรีภาพที่ล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เมื่อถามว่ากรณีที่มีการเสนอแก้กฎหมาย มาตรา112 จะถือว่าเข้าข่ายคำวินิจฉัยหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าต้องดูการกระทำเป็นเฉพาะกรณีไป ไม่อาจแปลความเกินได้ และไม่ควรตีความเกินคำวินิจฉัยต้องอยู่ในกรอบการปฏิรูปสถาบัน 10 ข้อที่คณะราษฎรประกาศไว้ และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง การกระทำที่เกี่ยวเนื่องเป็นกรณีๆไป ทั้งนี้ตนยังไม่เห็นคำวินิจฉัยฉบับเต็มจึงขอไม่แสดงความเห็น
เมื่อถามว่ากรณีที่มีนักการเมืองเข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวมีสิทธิถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หรือไม่ นายคำนูณ กล่าวาว่า ส่วนตัวมองว่าแล้วแต่พยานหลักฐานอีกครั้งและต้องดูเป็นรายกรณี