“หมอชลน่าน”ยกทีมโฆษกเพื่อไทยลุยอยุธยา ฟังปัญหาชาวนา ลั่นประกันรายได้สู้จำนำข้าวไม่ได้ ขณะที่ชาวบ้านชี้ 7 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยเหลียวแลลงพื้นที่ดูข้อเท็จจริง
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.64นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายนพ ชีวานันท์ ส.ส. พระนครศรีอยุธยา นายจิรทัศ ไกรเดชา ส.ส.พระนครศรีอยุธยา น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. โฆษกพรรคเพื่อไทย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส. ร้อยเอ็ด น.ส.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และ น.ส.ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ตำบลชายนา อำเภอเสนา จังหวัดอยุธยา เพื่อรับฟังปัญหาความทุกข์ยากของพี่น้องชาวนาในพื้นที่
โดยนางบุญสม งามประดับ (ผู้ใหญ่จิ๋ม) นายวีระ ธนสุทธิ์ นายสายันต์ สุภาเพียร ร่วมด้วยตัวแทนชาวนาอำเภอเสนา ได้สะท้อนปัญหาการทำนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผ่านพรรคเพื่อไทยไปบอกรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ทราบว่า การบริหารงานของรัฐบาล ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครจากรัฐบาลลงพื้นที่เข้ามาดูแลชาวบ้านเลย ทั้งที่เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการน้ำ เนื่องจากพื้นที่อำเภอเสนาเป็นแก้มลิงชะลอรับน้ำท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เมื่อมีน้ำเข้านากลับมีปริมาณมากเกิน แต่เมื่อต้องการน้ำทำนา กลับไม่มีน้ำใช้ น้ำแล้ง และน้ำส่งไปไม่ทั่วถึงที่นาชาวบ้าน
อีกทั้งราคาปุ๋ย-ยาแพงขึ้นกว่าเท่าตัว ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง แต่ขายข้าวได้ราคาต่ำ ชาวนาตั้งราคาขายเองไม่ได้ บางรายเกี่ยวข้าวไม่ทันน้ำท่วมพื้นที่ ทำให้ขายได้เพียงตันละ 2,300 บาท ทั้งที่โดยทั่วไปได้ราคา 5,000-6,000 บาท หรือบางรายได้ 7,000 บาท บางพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำเปรี้ยว ส่งผลต่อการผลิตข้าว จากการสูบน้ำออกของบ่อดิน เมื่อมีน้ำท่วม ทำให้การคมนาคมขนส่งเป็นไปอย่างยากลำบาก
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า วันนี้ตนและทีมโฆษกและคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาที่ต.ชายนาม หมู่ 7 สิ่งที่เราฟังจากปัญหาของเกษตรกรคือน้ำเข้านา ซึ่งเพื่อไทยมีแนวทางแก้ปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่ง ขณะนี้พี่น้องชาวนาไทยหลายครัวเรือนต้องเจ็บปวดทนทุกข์ยากลำบาก การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นไปเพื่อรับทราบปัญหาจากปากพี่น้องประชาชนพรรคเพื่อไทยจะใช้กลไกในสภาสะท้อนปัญหาให้รัฐบาลชดเชยเยียวยา
ขณะที่ ส.ส. พื้นที่ก็ได้ประสานงานอย่างสุดความสามารถเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนหลายเรื่อง แต่รัฐบาลไม่เคยใส่ใจ รวมทั้งจะนำสิ่งที่ได้รับฟังไปพัฒนาเป็นนโยบายแก้ไขปัญหา ให้พี่น้องชาวนาไทยอยู่ดีกินดี มีชีวิตที่ดีกว่าวันนี้
“โครงการประกันรายได้ ไม่ส่งเสริมการลดต้นทุน ไม่ส่งเสริมการผลิต และไม่ส่งเสริมการตลาด เป็นเพียงการชดเชยส่วนต่าง ซึ่งแตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าว ที่เป็นการเข้าจัดการกลไกราคาตลาด ทำให้ราคาข้าวสูงขึ้น ชาวนาขายข้าวได้มากขึ้น” นพ. ชลน่านกล่าว