ไม่รู้จะเป็นวาระร้อน หรือวาระเย็น หลัง “นายชวน หลีกภัย”ประธานรัฐสภา นัดหมายประชุมร่วมรัฐสภา ส.ส.และ ส.ว.วันที่ 17 พ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) รวมทั้งหมด 7 ร่าง และหากในวันดังกล่าวพิจารณาไม่ทัน ก็จะนัดลงมติในวันที่ 18พ.ย. ต่อไป
ก่อนหน้านั้นหลายฝ่ายเชื่อว่า การหาทางออกเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ท่ามกลางแรงกดดันจาก “กลุ่มราษฎร” แนวทางหนึ่งคือสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ การแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ เพราะเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ นอกจาก “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ปฎิรูปสถาบันกษัตริย์
แต่แนวทางดังกล่าว ก็น่าจะเกิดปัญหาตามมาอีก เมื่อสมาชิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 48 คน บวกรวมกับส.ส.พลังประชารัฐ (พปชร.) 25 คน ได้ลงชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรธน.บางฉบับ อ้างว่าอาจขัดข้อกฎหมาย
โดย “นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม” หนึ่งในส.ว. ระบุว่า ส.ว.ได้เข้าชื่อกันยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาให้บรรจุเป็นวาระเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา เพื่อขอมติเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภา ให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ (ศาลรธน.) วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับเท่านั้น
คือร่างแก้ไขรธน. มาตรา 256 ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่ให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างใหม่ทั้งฉบับ และร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ ที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันว่ามีเนื้อหาขัดต่อรธน.หรือไม่ เพราะมาตรา 255-256 รธน.ปี 2560 ระบุให้แก้ไขเพิ่มเติมได้เท่านั้น ไม่สามารถยกร่างใหม่ทั้งฉบับได้ ดังนั้นเพื่อความสบายใจจึงต้องยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยว่า การแก้รธน.ครั้งนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ขณะที่ร่างแก้ไขรธน. ของ “ไอลอว์” ที่ระบุว่า อ้างว่าเป็นของภาคประชาชน ก็ถูกเปิดโปงจากส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล และนักเคลื่อนไหวฝ่ายที่คัดค้าน การแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ โดยระบุว่า รายชื่อบางส่วนมีปัญหา มีการรับเงินจากต่างชาติ เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย
ซึ่งบุคคลที่นำเรื่องนี้มาเปิดโปงคือ “นายทศพล เพ็งส้ม” ฝ่ายกฎหมาย พปชร. ออกมาระบุถึงกรณีที่มีการเสนอชื่อแก้ไขร่างรธน.ภาคประชาชนของไอลอว์ ว่า ได้ทราบว่า 400 ชื่อตอนนี้มีการยืนยันว่าไม่ใช่ชื่อเขา และมีปัญหาต่อว่าใครเป็นคนปลอมลายมือชื่อเขา และจะมีปัญหาตามมาอีกว่าตกลงการเสนอกฎหมายที่มีการเสนอโดยลายมือชื่อปลอมจะถูกต้องหรือไม่ จะถือเป็นโมฆะหรือไม่
ถ้าตกเป็นโมฆะก็จะต้องมีการตรวจสอบว่าจะเอา 400 รายชื่อออกไปก่อน แล้วค่อยยื่นเข้ามาใหม่ เพราะในกระบวนการรายชื่อ 400 รายชื่อมันไม่ชอบ ถึงแม้จะเป็นแสนรายชื่อ แต่มีส่วนหนึ่งที่บกพร่องเป็นลายมือชื่อปลอม เพราะฉะนั้นรายชื่อปลอมก็ไม่สามารถไปออกกฎหมายได้อยู่แล้ว
“ด้วยกระบวนการที่เอารายชื่อปลอมมา ทางส.ว. และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็มีสิทธิยกมือไม่ให้ผ่านได้ ซึ่งมีการตรวจสอบหากส่งจดหมายไปแล้ว ไม่มีการตอบกลับมาก็ถือว่ายอมรับ มันก็จะเป็นปัญหาต่อทันทีว่าผมไม่ทราบ สมมติว่ามีใครเอารายชื่อผมใส่ไปแล้วผมไม่รู้ จดหมายก็ไม่ถึงที่บ้าน ผมมารู้ภายหลังว่าอันนี้ไม่ใช่ลายมือชื่อผม ผมก็จะเป็นต้องปกป้องว่าร่างที่ไอลอว์เสนอมา ผมไม่เห็นด้วย เอาลายมือชื่อผมไปได้อย่างไร ผมก็ต้องเสนอศาลรธน. ถึงแม้กฎหมายผ่านแล้วก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าผมไม่ได้เป็นคนเสนอ แต่มีคนปลอมลายมือชื่อผมไป”นายทศพล กล่าว
เช่นเดียวกับ “นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม” หัวหน้ากลุ่มไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติว่า หลังจากที่มีการเปิดเผยว่า ไอลอว์เป็นเอ็นจีโอรับเงินต่างชาติ แต่มาเป็นโต้โผล้มล้างรัฐธรรมนูญไทย เพื่อร่างใหม่ทั้งฉบับ ทางไอลอว์ได้ออกมาชี้แจงเรื่องแหล่งที่มาของทุน มีประเด็นที่น่าสนใจคือ
“หลักการทำงานกับแหล่งทุน คือเราจะพิจารณาแหล่งทุน ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกันกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากประเทศใด”
นักเคลื่อนไหวคนดังยังระบุอีกว่า แหล่งทุนแหล่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ Heinrich Böll Stiftung (HBF) ที่ให้เงินไอลอว์ก็เป็นมูลนิธิของพรรคกรีน ที่เดินเกมในรัฐสภาของประเทศเยอรมัน และมีการอภิปรายพาดพิงในฐานข้อมูลที่ผิดๆ เกี่ยวกับประเทศไทย การที่ไอลอว์ชี้แจงว่าหลักการทำงานกับแหล่งทุนพิจารณาที่วัตถุประสงค์สอดคล้องกัน ก็เท่ากับว่าไอลอว์กำลังสมคบกับต่างชาติ กระทำในสิ่งไม่ดีกับประเทศไทยใช่หรือไม่?
“เราจะปล่อยให้เอ็นจีโอ รับเงินต่างชาติ ชักศึกเข้าบ้านอีกนานแค่ไหน น่าจะถึงเวลาห้ามเอ็นจีโอ ที่เคลื่อนไหวในประเทศไทยรับเงินต่างชาติได้แล้ว??? #ถึงเวลาห้ามNGOรับเงินต่างชาติ”
อย่างไรก็ตาม เพจเฟซบุ๊ก “ไอลอว์” ก็ออกมาโพสต์ชี้แจงว่า ไอลอว์ก่อตั้งเมื่อปี 2552 เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งทำงานกับภาคประชาสังคมและคนทั่วไปในสังคม มีเป้าหมายเพื่อไปให้ถึง หลักการประชาธิปไตย, เสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบบยุติธรรมไทยที่เป็นธรรมและตรวจสอบได้กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ระหว่างปี 2552 ถึง 2557 ไอลอว์รับการสนับสนุนทุนจาก มูลนิธิ Open Society (Open Society Foundation) และมูลนิธิ Heinrich Böll และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากบริษัท Google ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันไอลอว์ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1.Open Society Foundation (OSF) 2.Heinrich Böll Stiftung (HBF) 3.National Endowment for Democracy (NED) 4.Fund for Global Human Rights (FGHR) 5.American Jewish World Service (AJWS) 6.ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google และผู้สนับสนุนอิสระ
หลักการทำงานกับแหล่งทุนคือ เราจะพิจารณาแหล่งทุนที่มีวัตถุประสงค์ สอดคล้องกันกับเป้าหมายขององค์กร ไม่ได้จำกัดว่าต้องมาจากประเทศใด ถ้ามีแหล่งทุนในประเทศที่วัตถุประสงค์ตรงกันก็จะทำงานด้วยเช่นกัน
โดยเราเป็นผู้ร่างโครงการที่ต้องการทำงานในแต่ละปี กิจกรรมทั้งหมดเราเป็นผู้ริเริ่มเสนอ และเป็นผู้ออกแบบ กิจกรรมที่ทำไม่มีผลต่อปริมาณเงินที่ได้รับ และแหล่งทุนไม่มีส่วนในการกำหนดรูปแบบและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม
ข้อมูลทั้งหมดนี้อยู่บนเว็บไซต์ของเรามาตั้งแต่ก่อตั้ง และเว็บไซต์ของผู้ให้ทุนทุกแห่ง โดยหลักการเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำโดยปิดลับและไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด เป็นเช่นเดียวกับการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ในประเทศไทยและทั่วโลก.
ถึงแม้จะมีคำชี้แจงจาก “ไอลอว์” แต่ก็ไม่ช่วยทำให้กลุ่มที่ติดตามการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอลูกผสม ลดความหวาดระแวงลงได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ การขับเคลื่อนขององค์กรนี้ มักถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มอำนาจเก่า
โดยเฉพาะการรับทุนจาก NED ซึ่งเป็นงบประมาณจาก ”สหรัฐอเมริกา ”มหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งมีข่าวว่า ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ”กลุ่มราษฎร”อย่างลับๆ เนื่องจากไม่พอใจบทบาทรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศจีน และการรวมลงทุนของสองประเทศ ในโครงการสำคัญต่างๆ
นอกจากเนื้อหาการแก้รธน.ของ “ร่างไอลอว์” ก็มีความอ่อนไหว ทั้งเปิดโอกาสให้แก้ไขได้ทุกหมวด ซึ่งรวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน
ทั้งการแก้ไขเรื่องคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ซึ่งร่างของไอลอว์ให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส. นั้นหมายความหากผลักดันออกมา แล้วมีการประกาศใช้ จะส่งผลทำให้ “พล.อ.ประยุทธ์” หลุดจากตำแหน่งนายกฯ เพราะไม่ได้เป็น ส.ส. รวมทั้งการให้ยกเลิก ส.ว.ชุดปัจจุบันทั้งหมดหลังการแก้ไข รธน.สำเร็จ อีกทั้งคงไม่มีความเป็นไปได้ ที่ส.ว.ชุดปัจจุบันจะมาโหวตให้ตัวเองพ้นสภาพ ทั้งๆที่ยังเหลือระยะเวลาอีก 3 ปี
ถึงแม้ “หัวหน้ารัฐบาล” จะส่งสัญญาณสนับสนุนการแก้ไขรธน. ระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อหารือถึงปัญหาความขัดแย้ง หลังการอุบัติขึ้นของ “ม็อบชู 3 นิ้ว” แต่คงไม่ได้หมายความว่า การแก้ไขกฎหมายแม่บทในการปกครองประเทศ จะเดินหน้าไปอย่างราบรื่น
ยิ่งส.ว. และพรรคแกนนำรัฐบาลมองว่า เป้าหมายในการแก้ไขครั้งนี้ จะกระทบกับอำนาจและสถานะของตนเอง อีกทั้งทั้งการเคลื่อนไหวของ “ม็อบราษฎร” ก็เริ่มหมดความชอบธรรมเรื่อยๆ หลังเคลื่อนเคลื่อนไหวในรูปแบบ ที่ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง จนคนส่วนใหญ่เริ่มเอือมระอา
แต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ก็ต้องบริหารจัดการอารมณ์คนส่วนใหญ่ในประเทศให้ดี รวมทั้งท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล เพราะฝ่ายตรงข้ามเชื่อว่า ผู้นำฝ่ายบริหารสามารถกำหนดทิศทาง ในการแก้ไขกฎหมายแม่บทปกครองประเทศได้ ทั้งการคุมเสียงในสภาสูง และการกำหนดจุดยืน พปชร.
อย่าลืม..การถอนฝืนออกจากเตา ดีกว่าปล่อยให้เชื้อเพลิงประทุอยู่เรื่อยๆ จนอาจลุกลามจนทำให้รัฐบาลต้องมีอันเป็นไป ก่อนระยะเวลาอันควร
……………………………….
คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก
โดย #แมวสีขาว