วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“เนื้อหมูเพาะเลี้ยง” เทรนด์อาหารแห่งอนาคต
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เนื้อหมูเพาะเลี้ยง” เทรนด์อาหารแห่งอนาคต

นักวิจัยจุฬาฯ” วิจัยผลิตเนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ รสชาติและคุณค่าโภชนาการใกล้เคียงเนื้อหมูที่บริโภค เตรียมผลักสู่กระบวนการผลิตเพื่อจำหน่าย ตอบโจทย์ความมั่นคงทางอาหารในอนาคต

 

“เนื้อหมูจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” (Cultured Meat) เป็นนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ จากการวิจัยกว่า 2 ปี โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายสัตว์แพทย์ ดร.เจนภพ สว่างเมฆ จากศูนย์ Veterinary Stem Cell and Bioengineering Innovation Center (VSCBIC) คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“สิ่งนี้เป็นนวัตกรรมทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์ โดยเราไม่จำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ไม่ต้องใช้ทรัพยากรสูงมาก ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม และตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านคุณค่าด้านโภชนาการและความปลอดภัยทางอาหารอีกด้วย” ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ กล่าว

ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท ไบโอ อิงค์ จำกัด บริษัทสตาร์อัพของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้การบ่มเพาะของ CU Innovation Hub ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ เผยว่าผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงอยู่ระหว่างขั้นตอนการวิจัยพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตในโรงงาน และคาดว่าจะสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงให้ผู้บริโภคลิ้มลองได้ในอีก 2-3 ปี

“ในอนาคตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะเป็นอาหารทางเลือกที่อาจจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ตามธรรมชาติ และประเทศไทยก็มีศักยภาพทางการผลิตที่จะแข่งขันในตลาดโลกได้”

เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง (Cultured Meat) เป็นเนื้อสัตว์ที่มาจากกระบวนการเลียนแบบการสร้างเซลล์และเนื้อเยื่อด้วยเทคโนโลยี “สเต็มเซลล์” วิศวกรรมชีวภาพและวัสดุชีวภาพ

“ในทุกเนื้อเยื่อจะมีสเต็มเซลล์ซ่อนอยู่ เราใช้วิธีการที่พัฒนาขึ้นมาแยกเซลล์นั้นออกมา แล้วนำมาเพาะเลี้ยงให้ห้องทดลองเพื่อเพิ่มจำนวน ถ้าได้เซลล์อย่างเหมาะสม เซลล์นั้นจะเพิ่มจำนวนต่อเนื่องได้เรื่อยๆ เราใช้เซลล์ปริมาณไม่มาก เพราะใน 1 เซลล์ตั้งต้น สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก ขึ้นอยู่กับกระบวนการเลี้ยง การผลิตและการสร้างชิ้นเนื้อขึ้นมา” ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ อธิบาย

“เนื้อสัตว์ต้นแบบ” จากการวิจัยเป็นเนื้อสุกรในรูปแบบเนื้อแดงและเนื้อสามชั้น เนื่องจากเป็นที่นิยมของผู้บริโภค ส่วนในอนาคต ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ วางแผนจะเพาะเนื้อเยื่อสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อวัว ปลา กุ้ง เป็นต้น

“จุดเด่นของเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงคือความสะอาด เครื่องมือและระบบการผลิตเป็นระดับเดียวกับที่ใช้ผลิตยารักษาโรค จึงสะอาด ปลอดภัย และแทบไม่มีสิ่งแปลกปลอมเลย นอกจากนี้ เรายังสามารถปรับแต่งหรือเพิ่มสารอาหารเข้าไปในเนื้อสัตว์ได้ตามความต้องการอีกด้วย”

สถานการณ์การเกิดโรคระบาดทั้งในสัตว์และในคน เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เราเห็นความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเป็นหนึ่งในคำตอบ

“กระบวนการทำเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงใช้พื้นที่ระบบปิดคือในโรงงาน ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดโรคระบาดในสัตว์หรือคน ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยง เราจะยังมีแหล่งโปรตีนจากเนื้อสัตว์สำหรับบริโภค” ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ กล่าว

“กระบวนการผลิตอาหารในรูปแบบฟาร์มเลี้ยงสัตว์ส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทนซึ่งกระทบต่อภาวะโลกร้อนค่อนข้างมาก หลายประเทศจึงมีความพยายามที่จะลดมลภาวะจากการเลี้ยงสัตว์ในระยะยาว สำหรับประเทศไทย แม้เราจะเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ในอนาคต เราคงหนีไม่พ้นการผลิตอาหารทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ผลิตจากพืช (Plant-based meat) หรือ Cultured meat”

ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ เผยว่า เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงเป็นตลาดที่กำลังเติบโตและได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเข้าไปมีส่วนแบ่งทางการตลาด แม้เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มในการสร้างเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงจะมีต้นทุนสูง แต่คาดว่าจะมีบริษัททั้งในและต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น

“ภายใน 2-3 ปีนี้ เราจะได้เห็นและลิ้มลองผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงชุดแรกอย่างแน่นอน และในอนาคตก็จะมีการผลิตเนื้อออกมาในรูปแบบอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม หรือผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์กึ่งสำเร็จรูปหลายแบบที่มีจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งจะมีการผลิตเนื้อที่มีมูลค่าสูง เช่น สเต็ก วากิว เนื้อสัตว์ปรุงสำเร็จรูปบรรจุหีบห่อออกมาจำหน่ายอีกด้วย” ผศ.น.สพ.ดร.เจนภพ กล่าวอย่างมั่นใจ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img