“นิกร”เตือนส.ส.ถ้าหากไม่อยากเลือกตั้งเร็ว ก็ต้องช่วยกันรักษาสภาฯ อย่าให้ล่ม จนนำมาซึ่งนายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภาฯ
เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.64 นายนิกร จำนง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ในฐานะคณะทำงานเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่)พ.ศ.(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา83และมาตรา91) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสภาล่ม 2 ครั้งใน 1 สัปดาห์ ว่า ในครั้งหน้ามีความเห็นกันว่าในช่วงปีสุดท้ายเนื่องจากยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ก็ต้องเปิดโอกาสให้วันเวลาของส.ส.ได้ลงพื้นที่บ้าง เพราะเขตเลือกตั้งก็ยังไม่แน่นอนเพราะเพิ่มเป็น 400 เขต บัตร 2 ใบ สัญญาณการเลือกตั้งเริ่มขึ้นมาแล้ว คงต้องหาเสียงพบประชาชน ซึ่งก็เห็นใจส.ส.เขต เพราะ ไม่เช่นนั้นรักษาสภาได้แต่รักษาความเป็นส.ส.ของตัวเองไม่ได้ ขอให้วิป 2 ฝ่าย ได้ตกลงกันให้ชัดเจน ควรจะเป็นลักษณะเหมือนกระทู้ เพราะถ้าเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งก็สามารถดำเนินการได้ ในช่วงปีหลังต่างฝ่ายต่างต้องเห็นใจกันในฐานะตัวแทนประชาชน ที่ต้องทำหน้าที่นิติบัญญัติและทำหน้าที่ในฐานะเป็นปากเสียงของประชาชน
ส่วนมีการวิจารณ์ว่าสภาล่มบ่อยอาจเป็นการส่งสัญญาณว่าสภามีปัญหา อาจทำให้เกิดการยุบสภา นายนิกร กล่าวว่า การยุบสภาคือสภามีปัญหา ซึ่งการที่องค์ประชุมไม่ครบแล้วทำให้สภาล่มก็ถือเป็นปัญหาอย่างมีนัยสำคัญของสภาเหมือนกัน จึงต้องพึงรักษาสภากันไว้ ในฐานะส.ส. ถ้าไม่อยากจะเลือกตั้งกันเร็วก็ต้องช่วยกันรักษา เพราะเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีสามารถนำไปเป็นเหตุยุบสภาได้ ส่วนที่มีส.ส.ที่เป็นรัฐมนตรีหลายคนไม่มา คงเพราะติดงาน เร่งทำงานเข้าพื้นที่เพราะใกล้สิ้นปี
นายนิกร ยังกล่าวถึง ความคืบหน้าร่างกฎหมายลูกของพรรคร่วมรัฐบาล ว่า ในวันจันทร์ที่ 20 ธ.ค.นี้เวลา 10.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญคณะทำงานยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับฯ ชุดที่มีนายวิเชียร ชวลิต เป็นประธานคณะทำงาน อาทิ ตนเอง นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายราเมศ รัตนะเชวง นายชาดา ไทยเศรษฐ์ นายศุภชัย ใจสมุทร นายโกวิทย์ พวงงาม นายสุรสิทธิ์ นิธิวุฒิวรรักษ์ และนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชา (พปชร.) ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (ประธานวิปรัฐบาล) เข้าหารือร่วมกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เรื่องที่จะยื่นร่างดังกล่าวผ่านรัฐบาล เพื่อไม่ให้เกิดมีปัญหายุ่งยากในภายหลังจึงต้องหารือกันก่อน เพราะร่างที่กกต. ยกขึ้นมาทำบัตรเป็นเบอร์เดียวกัน อาจจะเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 แต่ทางพรรคร่วมเห็นว่า เป็นบัตรคนละเบอร์กันจะมีปัญหาน้อยกว่า
ส่วนร่างกฏหมายพรรคการเมือง กกต.แก้มา 2-3 มาตราเท่านั่น ตามอำนาจหน้าที่กกต. แต่ในความเป็นจริง ทราบว่ากกต.เอง มีปัญหาตัวแทนประจำจังหวัดเขตเลือกตั้งอยู่มากในการบริหารจัดการ ก็ต้องเห็นใจกกต. เราพรรคร่วมรัฐบาลจึงมีการขอแก้กฎหมายพรรคการเมือง เช่น สาขาพรรคการเมือง ตัวแทนประจำจังหวัด ซึ่งแก้เพื่อให้บริหารจัดการพรรคการเมืองปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น