“โฆษกดีอีเอส” เผย 4 แบงก์ใหญ่ถูกกลุ่มมิจฉาชีพแอบอ้างปล่อยข่าวปลอมเปิดลงทะเบียนกู้เงิน-แจกเงินสดปีใหม่ เตือนประชาชนตรวจสอบรายละเอียดอย่างรอบคอบอย่าหลงเชื่ออาจตกเป็นเหยื่อได้
นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า สรุปผลการ รับแจ้งข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 10-16 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม พบมีการแอบอ้างชื่อธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เพื่อหลอกลวงและบิดเบือนสร้างความเข้าใจผิดกับประชาชน โดยมีทั้งเรื่องการเปิดลงทะเบียนกู้ยืม ปล่อยสินเชื่อโดยผ่อนชำระรายเดือนและอัตราดอกเบี้ยต่ำ แจกเงินสดเป็นของขวัญปีใหม่เป็นต้น
ทั้งนี้จากการประสานงานของศูนย์ฯ ได้รับผลการตรวจสอบแล้ว 3 เรื่องว่าเป็นข่าวปลอม ได้แก่ กรุงไทย ให้ยืมปิดหนี้ตามนโยบายรัฐ ดอกเบี้ยต่ำ ทุกอาชีพ 50,000-200,000 บาท ข่าวกรุงไทย เปิดเงินกู้ 5,000 – 300,000 บาท ใช้แค่บัตรประชาชน สามารถยืมได้ทุกสาขาอาชีพผ่านไลน์ @935kfjpa และข่าวออม สิน เปิดสินเชื่อ QR รายวัน วงเงินกู้ 30,000-500,000 บาท
นอกจากนี้อยู่ระหว่างรอผลตรวจสอบ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่อง ธ.ออมสิน เปิดลงทะเบียนให้กู้ยืมวงเงิน 30,000 บาทผ่อน 1,000 บาท และธ.กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อ “กรุงไทยใจดี” ให้ยืม 1 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 1,653 บาท
ส่วนอีก 2 เรื่องที่อยู่ระหว่างการประสานได้แก่ ออมสิน ธ.ก.ส. และธอส. เตรียมของขวัญปีใหม่ให้ลูกค้าประวัติชำระดีรับเงินสดรายละ 500-1,000 บาท และ ดีแทค เปิดให้ลงทะเบียนกู้ยืม วงเงินสูงสุด 8 แสนบาท
สำหรับภาพรวมในรอบสัปดาห์ล่าสุดนี้ มีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,468,938 ข้อความ โดยจากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 189 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 97 เรื่อง ในจำนวนนี้เป็นข่าวเกี่ยวกับโควิด 26 เรื่อง
ส่วนข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 5 อันดับแรกได้แก่ อันดับ 1 กรุงไทยให้กู้เงินผ่านไลน์ @935kfjpa โดยใช้แค่บัตรประชาชนเท่านั้น อันดับ 2 ผู้ที่เป็นริดสีดวง เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ อันดับ 3 เวลาเที่ยงคืนถึงตี 3 รังสี คอสมิกเข้าใกล้โลก หากเปิดมือถือไว้ร่างกายจะได้รับอันตราย อันดับ 4 ภาคใต้เตรียมรับมือพายุไซ โคลนอัสนีในอีก 5 วัน และอันดับ 5 ใส่ผ้าอนามัยแผ่นเดิมเป็นเวลานานๆ ทำให้เป็นโรคมะเร็งปากมดลูก
“ขอความร่วมมือจากประชาชน เพื่อเข้ามามีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาข่าวปลอมอย่างต่อเนื่องเมื่อได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และแจ้งเบาะแสข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand แล ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87