Schroders เผยผลสำรวจ Global Investor Study 2021 ชี้นักลงทุนอาเซียนมากกว่า 1 ใน 3 ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น ท่ามกลางความผันผวนจากวิกฤติโควิด ชี้อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมีส่วนดึงดูด และมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น
Global Investor Study ผลงานวิจัยระดับโลกโดย Schroders เผยว่า ปัจจุบันนักลงทุนหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ผลจากการวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยของ Schroders จากการสำรวจความคิดเห็นของนักลงทุนเกือบ 24,000 คนจาก 33 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และประเทศไทย พบว่า 40% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความสนใจที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้น (เทียบกับค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 37%)
โดยผลการวิจัยชี้ว่า นักลงทุนหลายคนรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อชดเชยจากสภาวะความไม่แน่นอนที่เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงความกังวลจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทัศนคติเช่นนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในประเทศไทย (42%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (40%) สิงคโปร์ (40%) และมาเลเซีย (38%)
ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ พบว่า 56% ของผู้ตอบแบบสำรวจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เทียบกับ 53% ของค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลก) กล่าวว่าพวกเขาจะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เช่นกองทุนหุ้นที่เน้นลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเฉพาะทาง ในขณะที่ 46% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เทียบกับ 33% ของค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลก) ก็จะตัดสินใจลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโต (cryptocurrencies) ที่มีความเสี่ยงสูงแต่มีการเติบโตสูงด้วย
แนวโน้มความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเกิดขึ้น แม้ว่า 68% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เทียบกับ 63% ของค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลก) จะยอมรับว่าผลการดำเนินงานของการลงทุนมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาโดยตรง
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ในขณะที่นักลงทุนรุ่นใหม่ทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 18-37 ปี สนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นเพื่อเน้นสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ (หรือติดลบในบางภูมิภาค) แต่แนวโน้มดังกล่าวกลับแตกต่างออกไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวคือ นักลงทุนหลากหลายช่วงอายุในภูมิภาคนี้สนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงแตกต่างกัน โดยนักลงทุนในมาเลเซียที่มีอายุ 38-50 ปี มีแนวโน้มที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่นักลงทุนที่มีอายุน้อยในอินโดนีเซียและสิงคโปร์ และนักลงทุนที่มีอายุมากกว่าในประเทศไทย คือกลุ่มที่พร้อมรับความเสี่ยงจากการลงทุนมากกว่า
เมื่อมองในระดับภูมิภาคทั่วโลก 59% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียมีแนวโน้มที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นมากที่สุดเมื่ออัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสูงกว่านักลงทุนในแถบภูมิภาคอเมริกา (53%) และยุโรป (49%)
ด้วยเป้าหมายที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น นักลงทุนหลายคนจึงตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น รวมถึงสินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ เป็นครั้งแรก
สินทรัพย์ประเภทใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมลงทุนในอันดับต้นๆ ที่นักลงทุนตัดสินใจลงทุนเป็นครั้งแรกในรอบปีที่ผ่านมา ได้แก่ หุ้นเกี่ยวกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและสกุลเงินดิจิทัล (28%) ที่ครองอันดับหนึ่งร่วมกัน ตามมาด้วย กองทุนเทคโนโลยีชีวภาพหรือเภสัชกรรม (26%) และ หุ้นเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี (25%)
แม้ว่าในปีที่ผ่านมา นักลงทุนส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะให้ความสนใจในหุ้นเกี่ยวกับธุรกิจอินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยี (63%) ค่อนข้างมาก แต่อัตราสัดส่วนการลงทุนที่ค่อนข้างสูงในกลุ่มโลหะที่มีค่า เช่นทองคำ (60%) แสดงให้เห็นคนกลุ่มนี้ก็ยังคงมีความระมัดระวังในมุมมองการลงทุนที่ไม่ได้มองโลกในแง่ดีจนเกินไปนัก ในขณะที่ 59% ของนักลงทุนเหล่านี้ยังสนใจลงทุนในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้วย
เลสลีย์-แอน มอร์แกน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนแบบประเภทสินทรัพย์ที่หลากหลาย ของ Schroders ให้ความเห็นว่า “ผลการวิจัยล่าสุดของเราชี้ให้เห็นว่า นักลงทุนหลายคนรู้สึกถึงความจำเป็นที่พวกเขาจะต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ดังที่เราได้พบเจอเมื่อปีที่ผ่านมาเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นแนวโน้มทัศนคติดังกล่าว นอกจากนี้ ในสถานการณ์ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นนักลงทุนได้ตัดสินใจที่จะเลือกลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น”
“นักลงทุนหลายคนยังมุ่งสนใจที่จะกระจายการลงทุนในประเภทสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายเพิ่มขึ้นด้วย”
“กล่าวโดยสรุปแล้ว ผลการวิจัยเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า สัดส่วนของนักลงทุนที่เปิดรับความเสี่ยงในการลงทุนที่สูงขึ้นมีเพิ่มมากขึ้น ทว่าการที่ 68% ของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เทียบกับ 63% ของค่าเฉลี่ยของผลสำรวจทั่วโลก) ยอมรับว่าผลการดำเนินงานของการลงทุนของพวกเขามีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขาโดยตรง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พวกเขาต้องตัดสินใจเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่พวกเขายอมรับได้”