“ภัชริ ไทยสร้างไทย” จี้รัฐเร่งเปลี่ยนผ่านรถเครื่องยนต์สันดาป สู่รถยนต์ไฟฟ้าEV มั่นใจแก้ PM 2.5 ยั่งยืน เพราะอากาศสะอาด คือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แนะเดินหน้าตามนโยบายไทยสร้างไทยไม่เกินปี 2567เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม
นายภัชริ นิจสิริภัช คณะกรรมการนโยบาย พรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า เข้าสู่ฤดูหนาวเมื่อใด “ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ก็กลับมากวนใจพี่น้องชาวไทยในทุกๆปี แม้ว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศให้ “การแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” เป็นวาระแห่งชาติในปี พ.ศ.2562 แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ไข “ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ได้จนถึงปัจจุบัน แน่นอนว่า รถยนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine) ซึ่งใช้น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล แก๊สNGV และแก๊ส LPG เป็นหนึ่งในต้นเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิด “ฝุ่นละออง PM2.5”
พรรคไทยสร้างไทย ตระหนักถึง “ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” จึงมีนโยบายที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทดแทนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน โดย “รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน” ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านคัน และ “รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า” ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันภายในปี พ.ศ.2567 ด้วยการลดหย่อนภาษีต่างๆ เช่น ภาษีอากรนําเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมหาดไทย ให้เป็น 0 % เป็นระยะเวลา 3 ปี พร้อมตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนเงินทุนให้ประชาชนแลกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาไม่เกิน 1 แสนบาท
โดยนำรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในมารีไซเคิล ซึ่งจะอุดหนุน รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตจากต่างประเทศจะได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 150,000 บาท และ รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ จะได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 250,000 บาท ส่วนรถจักรยานยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศ ได้รับการอุดหนุนสูงสุด 25,000 บาท และ รถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ จะได้รับการอุดหนุนสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาท
ถึงแม้ว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) จะเตรียมเสนอมาตรการจูงใจให้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่ออนุมัติในช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้
ตนเองเห็นว่า รัฐบาลยังมีความพยายามน้อยเกินไปที่จะเปลี่ยนผ่านให้ประเทศไทยมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากเพียงพอ
ประการแรก มาตรการดังกล่าวให้ประโยชน์แก่รถยนต์ไฟฟ้าอย่างเดียว ไม่ครอบคลุมรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า อีกทั้งเป้าหมายในการสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแค่ 7,500 คัน เมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันที่มี 21 ล้านคัน ซึ่งต่ำมากและไม่มีนัยสำคัญในการแก้ “ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5”
ประการที่สอง รัฐบาลขาดแผนในการเพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันนี้มีเพียงแค่ 1,818 สถานี โดยน้อยกว่าเยอรมนีที่ขนาดประเทศเล็กกว่าประเทศไทย พรรคไทยสร้างไทยเห็นว่า ควรเพิ่มสถานีชาร์จไฟฟ้าให้ได้ 46,000 สถานีภายในปี พ.ศ.2567 และ 70,000 สถานีภายในปี พ.ศ.2569 ซึ่งให้เพิ่มในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ สถานที่ราชการ อาทิ สถานีตำรวจ สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ โรงเรียนสังกัด สพฐ. และมหาวิทยาลัย
ประการที่สาม รัฐบาลขาดแผนการที่จะเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ในหน่วยงานราชการ เป็น “รถยนต์ไฟฟ้า” ทั้งที่ รัฐบาลเองควรเป็นหัวหอกในการเปลี่ยนครั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อีกทั้งยังขาดแผนที่จะเปลี่ยน “รถขนส่งสาธารณะ“ ที่ใช้น้ำมัน ให้เป็น “รถขนส่งสาธารณะไฟฟ้า“
ประการที่สี่ รัฐบาลขาดแผนที่จะสร้างคนไทยให้มีทักษะที่สอดคล้องกับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายมาก หากประเทศไทยไม่หยิบฉวยโอกาสนี้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพราะนี่คือหนทางที่สำคัญที่จะสร้างเศรฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
พรรคไทยสร้างไทย เสนอให้มีมาตรการรับสิทธิยกเว้นภาษีให้แก่บริษัทที่ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยทําข้อตกลงร่วมกับมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อสร้างหลักสูตรปริญญาตรี และปริญญาโท เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและจักรยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งสนับสนุนวีซ่าและใบอนุญาติทํางานให้แก่ผู้ชํานาญการด้านรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิชาการ และคนไทย รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมผลิตรถยนต์และจักรยายนต์ไฟฟ้า ที่มีการลงทุนด้านการรีไซเคิลรถยนต์และซากรถยนต์ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศรวมถึงภาวะโลกร้อน ถ้าหากรัฐบาลดำเนินนโยบายตามที่พรรคไทยสร้างไทยเสนอ ตนมั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน อีกทั้งยังช่วยลดการนําเข้านํ้ามันดิบได้ถึง 155.65 ล้านลิตรต่อวัน โดยเป็นส่วนสำคัญในการแก้ “ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ซึ่งพรรคไทยสร้างไทยเชื่อว่า “อากาศสะอาดคือสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน”