มหาวิทยาลัยหอการค้า เผยผลสำรวจการบริโภคช่วงปีใหม่โอมิครอนทุบการใช้จ่ายวูบ เงินสะพัดเพียง 8.5 หมื่นล้านต่ำสุดรอบ 12 ปี นับจากปี 54
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ ช่วงวันที่ 14-23 ธันวาคม 2564 จำนวน 1,244 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 33% มองว่าบรรยากาศปีใหม่คึกคักเท่ากับปีที่แล้ว สัดส่วน 27% ไม่คึกคัก และ 23% คึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว
ทั้งนี้มีความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ และปัญหาหนี้สิน ขณะที่ พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงปีใหม่ จะใช้สำหรับตัวเอง 52.6% สินค้าก็จะซื้ออยูในกลุ่มสินค้าคงทน เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ
ส่วนเครื่อมดื่มแอลกอฮอล์ลดลง การเดินทางท่องเที่ยวยังมีและวางแผนกลับบ้าน ส่งผลให้การใช้จ่ายที่คาดว่าจะสะพัดในช่วงปีใหม่ 2565 ทั่วประเทศอยู่ที่ 85,796 ล้านบาท ติดลบ 6.2% แยกเป็นเงินสะพัดในกรุงเทพฯ 35,176 ล้านบาท ต่างจังหวัดรวมกัน 50,619 ล้านบาท
“จากความกังวลของโอไมครอนส่งผลให้กิจกรรมปีใหม่ลดลง เงินสะพัดจะอยู่ที่ 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งต่ำสุดในรอบ 12 ปีนับจากปี 54 จากเดิมคาดว่าจะอยู่ที่ 1.2-1.4 แสนล้านบาท และยอดใช้จ่าย ท่องเที่ยวต่อคนต่ำสุดในรอบ 15 ปี และการยกเลิกเคาต์ดาวน์กระทบต่อเศรษฐกิจ 3-5 หมื่นล้านบาท”
สำหรับทัศนคติทั่วไปเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่น่าห่วง ในปี 2565 คือ เศรษฐกิจ ค่าครองชีพ การเมือง ราคาน้ำมัน และการแพร่ระบาดของโควิด โดยประชาชนประเมินการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการแพร่ระบาด เศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ ความข้ดแย้ง ปัญหาสังคมและคอร์รัปชั่น ระดับ 7 เต็ม 10 คะแนน
ขณะที่ เศรษฐกิจในปี 65 คาดว่าขยายตัวต่ำกว่า 3% โดยเศรษฐกิจไทยจะเป็นบวกทุกไตรมาส ผลจากรัฐออกมาตรการต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน การกระตุ้นใช้จ่ายช่วงตรุษจีน เป็นต้น โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐเร่งดำเนินการในปีหน้า ดูแลค่าครองชีพ เช่น ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ยกเว้นภาษี ลดค่าสาธารณูปโภค ควบคุมราคาสินค้า ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูแลปัญหาหนี้ครัวเรือน เร่งลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโอมิครอนต่อไป ซึ่งจะมีผลต่อถึงไตรมาสแรกปี 65 หากมีการล็อกดาวน์ก็ต้องพิจารณาล็อกดาวน์แบบบางพื้นที่ทำให้เศรษฐกิจเสียหายเพิ่มอีก 3-5 แสนล้านบาท แต่หากรัฐใช้การปิดประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เฉลี่ยเข้ามา 2-3 หมื่นต่อเดือนตอนนี้ก็จะหายไป เท่ากับสูญเสียประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และกระทบต่อถึงยอดรวมนักท่องเที่ยว การใช้จ่าย ทั้งปีหน้า คาดโต 4-4.5% ก็จะเหลือ 3%