ไทยพบผู้ติดเชื้อ “โอมิครอน” เพิ่มอีก กรมวิทย์เผยแค่วันเดียวเจอ 194 ราย ติดสะสมแล้ว 934 ราย แนวโน้มจะติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้น
เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.64 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยความคืบหน้าการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ในประเทศไทยว่า ข้อมูลการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 โดยกรมวิทย์ฯ ตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย.-29 ธ.ค.64 พบการติดเชื้อ “โอมิครอน” สะสม 934 ราย แบ่งเป็นพบในผู้ดินทางมาจากต่างประเทศ 577 ราย และติดเชื้อในประเทศ 357 ราย ทั้งนี้เฉพาะ 29 ธ.ค.2564 เพิ่มขึ้น 194 ราย แบ่งเป็นมาจากต่างประเทศ 88 ราย ติดเชื้อในประเทศ 106 ราย โดยพบการติดเชื้อโอมิครอบแล้วในทุกเขตสุขภาพ ซึ่งแนวโน้มพบการติดเชื้อในประเทศเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศ เนื่องจากการเดินทางเข้าประเทศเริ่มชะลอตัว
เมื่อถามถึงกรณีมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านออกมาให้ข้อมูลว่า สำหรับผู้ที่รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็มแล้ว การติดเชื้อ “โอมิครอน” ที่มีความรุนแรงลดลงจาก “เดลต้า” จะเป็นเหมือนการกระตุ้นภูมิคุ้มกันร่างกาย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า นั่นเป็นข้อเท็จจริงอยู่แล้ว เนื่องจากเราทราบดีว่า การสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเกิดขึ้นจาก 2 ทางคือ 1.การฉีดวัคซีน และ 2.ภูมิคุ้มกันที่เกิดหลังจากติดเชื้อ นั่นหมายความว่า หากคนที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มเป็นไพรเมอร์รี่วัคซีน (primary vaccine) แล้วเกิดการติดเชื้อ อาการก็จะไม่รุนแรง แล้วเมื่อหา ยก็จะเกิดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติขึ้น ซึ่งก็จะเหมือนกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย
“แต่เราจะเอาภูมิฯ ที่เกิดจาก 2 กรณีนี้มาเทียบกันไม่ได้ว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น กับติดเชื้อแล้ว อันไหนจะกระตุ้นภูมิฯ ได้สูงกว่า เพราะผู้ที่เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์อื่น ก็ยังสามารถติดโอมิครอนได้ แต่แน่นอนว่าหากรับวัคซีนแล้ว ความรุนแรงของโรคจะลดลง จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงขอให้ทุกคนมารับวัคซีน โดยเฉพาะเข็ม 1 และ 2 ส่วนผู้ที่รับครบ 2 เข็มแล้ว เรายืนยันว่าการกระตุ้นภูมิฯ ด้วยวัคซีน ดีกว่ากระตุ้นด้วยการติดเชื้อแน่นอน” นพ.ศุภกิจ กล่าว