ราชกิจจาฯ เผยแพร่ข้อกำหนดฉบับที่ 41 ปรับเขตพื้นที่จังหวัด-ยกระดับการปฎิบัติงาน รับมือ “โอมิครอน” เตรียมความพร้อม ‘ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน’ รองรับช่วยเหลือประชาชน ปรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ตรวจ RT – PCR 2 ครั้ง
เมื่อวันที่ 9 ม.ค.65 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 41) เนื่องจากสถานการณ์ โควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอนที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีโอกาสทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น จึงต้องมีการกำหนดนโยบายและมาตรการเตรียมพร้อมรับมือ โดยการปรับเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ และกำหนดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวเพิ่มเติม รวมถึงขยายเวลาบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค ขนาดเดียวกันเจ้าหน้าที่จะต้องยกระดับการปฎิบัติงานเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาด โดยกรุงเทพมหานครและจังหวัดต่างๆเตรียมความพร้อมโดยจัดให้มีระบบศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (EOC) เพื่อการปฎิบัติงานของหน่วยงานทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ โดยอาจขอการสนับสนุนจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.)เพื่อพร้อมรองรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน
นอกจากนี้ ราชกิจจาฯยังออกคําสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ที่ 2/ 2565 เรื่องแนวทางปฎิบัติตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 (ฉบับที่ 21) ในการระงับการลงทะเบียนเดินทางเข้าราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวผ่านระบบTest&Go ยกเว้นการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรของผู้ที่ได้รับอนุญาต เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดกระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี เฉพาะเกาะเต่า เกาะพะงันและเกาะสมุย ซึ่งได้กำหนดเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 11 ม.ค.เป็นต้นไป รวมถึงให้มีหลักฐานหรือเอกสารที่ใช้ในการเดินทางเข้าราชอาณาจักรและให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยวิธี RT – PCR จํานวน 2 ครั้ง ท้ังนี้ ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2565
ประกาศ ณ วันที่ 8 ม.ค.2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม.