วุฒิฯ แก้ไขร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานตามเนื้อหาเดิมของรัฐบาล ต้องส่งกลับสภาฯ ยืนยันก่อนใช้บังคับ หากไม่เห็นด้วยตั้งกมธ.พิจารณา
วันที่ 10 ม.ค.65 ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… ซึ่ง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญฯ ที่มีนายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ ส.ว. เป็นประธานกมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ที่ประชุมวุฒิสภา ได้ใช้เวลาพิจารณาในวาระสอง เกือบ 3 ชั่วโมง ได้ลงมติในวาระสาม โดยที่ประชุมเสียงเอกฉันท์เห็นชอบกับเนื้อหาที่ กมธ. แก้ไข 162 เสียง และมีงดออกเสียง 3 เสียง ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ดังกล่าวต้องส่งคืนไปให้สภาฯ พิจารณาว่าจะยืนยันตามที่วุฒิสภาแก้ไขหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยต้องตั้งกมธ. ร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาในวาระพิจารณาเรียงตามมาตรา มีประเด็นที่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กมธ. แก้ไข ในหลายประเด็น ได้แก่ แก้ไขมาตรา 3 ว่าด้วยบทนิยาม คำว่า “พยาน” ที่กมธ.เสียงข้างมาก เพิ่มข้อความ ให้พยานหมายถึงจำเลยซึ่งศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษและหลบหนี นอกจากนี้มีการแก้ไข มาตรา 7 ที่ปรับเพิ่มข้อความ แก้ไขมาตรการเพื่อคุ้มครองพยาน มาตรา 10 วรรคสอง กมธ.วิสามัญ ได้แก้ไขเนื้อหาที่สภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบ โดยให้กลับไปใช้บทบัญญัติที่ ครม. เสนอ ที่กำหนดให้ หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยงานทะเบียนราษฎร กฎหมายว่าด้วยบัตรประจำตัวประชาชน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้รับแจ้งจากสำนักงานคุ้มครองพยาน ให้หน่วยงานดังกล่าวมีหน้าที่และอำนาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานนั้นกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแก้ไขมาตราดังกล่าวที่กลับไปตาม ครม. เสนอ มีส.ว. ที่เห็นแย้งเป็น 2 ฝ่าย โดยมองว่าเนื้อหาที่สภาเห็นชอบนั้นมีความครบถ้วนและมีชั้นของความลับที่ปฏิบัติได้ และไม่มีเหตุต้องกระทบกับหน่วยงานอื่นๆ ที่ต้องใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน เพราะเป็นเพียงการออกบัตรพิเศษเพื่อคุ้มครองเท่านั้น แต่ส่วนที่เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะมองว่าการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพียงฝ่ายเดียว อาจถูกใช้อำนาจในทางมิชอบได้ อีกทั้งเกรงว่าจะกระทบกับงานความมั่นคงที่เกี่ยวกับ เลขบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 13 หลัก
สำหรับร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพยานฯ ถือเป็นร่างกฎหมาย ฉบับที่ 3 ที่วุฒิสภา แก้ไขปรับปรุงไปจากร่างที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ โดย 1.ร่างพ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่…) พ.ศ… และ 2. ร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ…