วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกEXCLUSIVEทิศทางตลาดงานไทย ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นถึงโควิดดิสรัปชั่น อาชีพไหนมาแรง?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

ทิศทางตลาดงานไทย ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นถึงโควิดดิสรัปชั่น อาชีพไหนมาแรง?

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย วิเคราะห์ทิศทางตลาดงานไทยในปี 2565 จาก ดิจิทัลดิสรัปชั่นถึงโควิดดิสรัปชั่น มีการเปลี่ยนแปลงหลากหลาย ซึ่งนับเป็นความท้าทายของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม

ทิศทางตลาดงานปี 2565 คาดการณ์ธุรกิจที่มีความต้องการสูง ได้แก่ ธุรกิจบริการ, สินค้าอุตสาหกรรม และธุรกิจเทคโนโลยี มีแนวโน้มความต้องการตอบรับการปรับตัวและการรับมือของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมสู่การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ พร้อมจัดอันดับสายงานมาแรงแห่งปีด้านตลาดงาน ซึ่งสายงานการขายและการตลาด, สายงานการผลิต และงานระยะสั้นต่างๆ มาอันดับต้น ส่วนสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน ได้แก่ งานขายและการตลาด, งานวิศวกร, และงานบริการลูกค้า มาเป็นอันดับต้น

นางสาวลิลลี่ งามตระกูลพานิช ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลดิสรัปชั่นจนมาถึงโควิดดิสรัปชั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีการใช้ชีวิต การทำงาน และการดำเนินธุรกิจของทั้งภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม และทุกภาคส่วนล้วนตระหนักและตั้งรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย มองเห็นการฟื้นตัวที่เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างช้าๆ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้นและมีการกระจายการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น นอกจากนี้ การเปิดประเทศและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ  และสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวเช่นเดียวกัน ทางด้านอุตสาหกรรมยังมีการนำเข้าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการทำงานมากขึ้น ปัจจุบันความต้องการบุคลากรในตลาดงานมีความซับซ้อนมากขึ้น อันมาจากการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวของแต่ละองค์กรในการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มการทำงานในอนาคต ส่งผลให้ความต้องการทางด้านทักษะโดยเฉพาะทักษะใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานในปัจจุบันและการจ้างงานยุคใหม่มากขึ้น ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญเพื่อให้บุคลากรสามารถขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับทิศทางของตลาดงาน และแรงงานมีแนวโน้มการปรับตัวไปสู่รูปแบบของธุรกิจใหม่ (New Economy) ซึ่งทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องมีการวางแผนด้านกำลังคน การสรรหาบุคลากร รวมถึงพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ตอบโจทย์การทำงานปัจจุบันสู่อนาคต และสร้างความสำเร็จร่วมกันท่ามกลางโลกของการเปลี่ยนแปลง

“ท่ามกลางความท้าทายของโลกการทำงานในปัจจุบัน ทั้งภาวะเศรษฐกิจ สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และเทคโนโลยีทรานส์ฟอร์เมชั่น รวมถึงความต้องการทักษะแรงงานใหม่ๆ และรูปแบบการทำงาน, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ภาคธุรกิจและแรงงานต้องวางแผนรับมือให้พร้อมทั้งในโลกการทำงานปัจจุบันและอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  ทั้งนี้ ทิศทางตลาดงานสะท้อนถึงสถานการณ์แรงงานในหลากหลายมิติ ทำให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อนายจ้างและลูกจ้างในการวางแผนรับมือทั้งการหาคนทำงาน และการหางานที่เหมาะสมได้ต่อไป” ลิลลี่ งามตระกูลพานิช เปิดเผยมุมมอง

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยต่อว่า จากผลการสำรวจของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ประจำปี 2565 จากทิศทางและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ได้ดำเนินการสำรวจและจัดอันดับตลาดแรงงาน 10 อันดับสายงานที่ตลาดงานต้องการ (ภาพในตาราง) ดังนี้ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 20.16%, อันดับ 2 สายงานการผลิต 19.03%, อันดับ 3 งานระยะสั้นต่างๆ 12.74%, อันดับ 4 สายงานไอที 11.29%, อันดับ 5 สายงานวิศวกร 9.19%, อันดับ 6 สายงานบัญชีและการเงิน 8.71%, อันดับ 7 สายงานโลจิสติกส์และ          ซัพพลายเชน 7.10%, อันดับ 8 สายงานบริการลูกค้า 5.48%, อันดับ 9 สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ 3.71% และอันดับ 10 สายงานทรัพยากรบุคคล 2.26% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า สายงานขายและการตลาดนับว่ามีความสำคัญและมีความต้องการสูงต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน จากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 ทำให้บทบาทของการขายและการตลาดมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ซึ่งสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค งานการผลิตมีความต้องการสูงจากแผนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีและการส่งออกที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงงานระยะสั้น, งานชั่วคราวและงานสัญญาจ้างมีความต้องการแรงงานสูงขึ้น จากการลดความเสี่ยงด้านบุคลากรในช่วงวิกฤตโควิด ขณะเดียวกัน การจ้างแรงงานกลุ่มนี้เพื่อรักษาธุรกิจให้สามารถประกอบกิจการได้อย่างต่อเนื่อง ทางด้านสายงานด้านไอทียังมีการเติบโตและมีความต้องการสูงมากสอดคล้องทิศทางยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นและโควิดดิสรัปชั่น ที่ใช้อุปกรณ์ไอทีและนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน และตั้งแต่ที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดที่ต้องการรักษาระยะห่างทางกายภาพส่งผลให้มีตำแหน่งงานทางด้านไอทีเกิดขึ้นและเติบโตสูงมากในปัจจุบัน งานวิศวกรมีความต้องการแปรผันตาม ทิศทางของภาคการผลิตในหลากหลายสายเพื่อให้การทำงานทั้งในส่วนกระบวนการทำงานและการผลิตดำเนินต่อไปได้อย่างไม่มีสะดุดในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจของแต่ละองค์กร

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจ 10 อันดับ อาชีพมาแรงแห่งปีของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย (ภาพในตาราง) สายงานขายและการตลาด อาชีพมาแรง ได้แก่ งานขาย, งานพัฒนาธุรกิจ, งานการตลาดดิจิทัล, งานอีคอมเมิร์ซ และงานการตลาด สายงานการผลิต ได้แก่ งานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค งานระยะสั้นต่างๆ ได้แก่ งานฝ่ายผลิต, งานขาย, งานไอที, งานวิศวกร, งานโลจิสติกส์, งานบริการลูกค้า และงานก่อสร้าง ส่วนสายงานไอที ได้แก่ Programmer & Developer, Big Data, Project Management, IT – Technique, IT Infrastructure, IT Support, Blockchain, IT Management, Software Tester และ Robotics ทางด้านสายงานวิศวกร ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ, งานวิศวกรการผลิต, งานวิศวกรรมการวัดคุม, งานวิศวกรโครงการ, งานวิศวกรวิจัยและพัฒนา สายงานบัญชีและการเงิน ได้แก่ งานผู้ตรวจสอบบัญชี และงานที่ปรึกษาทางการเงิน สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้แก่ งานจัดเรียงสินค้า, งานส่งพัสดุ, งานคลังสินค้า, งานจัดซื้อในและต่างประเทศ สายงานบริการลูกค้า ได้แก่ งานบริการให้ข้อมูลทางโทรศัพท์, งานแนะนำสินค้า, งานบริการลูกค้าทางโทรศัพท์, งานขายทางโทรศัพท์ และงานที่ปรึกษาด้านความคุ้มครอง สายงานบริการทางการแพทย์และสุขภาพ ได้แก่พยาบาล, แพทย์, เภสัชกร, ทันตแพทย์ และงานบริการทางด้านสุขภาพ สายงานทรัพยากรบุคคล ได้แก่ งานบริหารบุคคลและวางแผนกำลังคน, งานสรรหาบุคลากร, งานบริหารค่าตอบแทนและสวัสดิการ, งานพัฒนาบุคลากร และงานระบบสารสนเทศ

ทางด้าน อาชีพมาแรงในกลุ่มงานระยะสั้น ทั้งงานสัญญาจ้างและงานชั่วคราว ซึ่งมีตำแหน่งงานที่มีความต้องการหลากหลาย (ภาพในตาราง) ดังนี้ สายงานการผลิต ซึ่งเป็นกลุ่มอาชีพมาแรง ได้แก่ งานฝ่ายผลิต และช่างเทคนิค สายงานขาย ได้แก่ งานขาย และงานประจำพื้นที่/อีเว้นท์ สายงานไอที ได้แก่ Programmer & Developer, IT Support, Project Management และ Software Tester สายงานวิศวกร ได้แก่ งานวิศวกรประกันและตรวจสอบคุณภาพ, งานวิศวกรระบบ, งานวิศวกรผลิตภัณฑ์ และงานวิศวกรโยธา สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ได้แก่ งานคลังสินค้า, งานแพ็คสินค้า และงานจัดเรียงสินค้า สายงานบริการลูกค้า ได้แก่ งานแคชเชียร์, งานแนะนำสินค้า และงานติดตามหนี้สินทางโทรศัพท์ และสายงานก่อสร้าง ได้แก่ งานก่อสร้าง

นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงและน่าจับตา 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจบริการ ในกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์, การแพทย์ และพาณิชย์ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ในกลุ่มยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ และธุรกิจเทคโนโลยี ในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตามลำดับ (ภาพในตาราง) ทั้งนี้ มีการคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจสำหรับปี 2565 ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจบริการ, เทคโนโลยี และสินค้าอุตสาหกรรม ตามทิศทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว

ทางด้าน ระดับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงาน มีดังนี้ ระดับผู้บริหารระดับสูง ความต้องการสูงอยู่ในธุรกิจเทคโนโลยี, ธุรกิจบริการ และธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค งานผู้บริหารระดับกลาง ความต้องการสูงอยู่ในธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม, ธุรกิจบริการ และธุรกิจเทคโนโลยี งานระดับปฏิบัติการ ความต้องการสูงอยู่ในธุรกิจบริการ, ธุรกิจอุตสาหกรรม และสินค้าอุปโภคบริโภค  หากเจาะไปที่ทิศทางในภาพรวมความต้องการแรงงานในระดับปฏิบัติการยังคงมีความต้องการสูงสุด ต่อมาเป็นผู้บริหารระดับกลางและผู้บริหารระดับสูง ตามลำดับ ในสายงานธุรกิจบริการที่มีความต้องการแรงงานสูงในแต่ละระดับ อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์, การแพทย์ และพาณิชย์

ภาพรวมความต้องการแรงงานมีทิศทางเติบโตขึ้นจากสถานการณ์โควิดรอบที่ 1 ในปี 2563 องค์กรและผู้ประกอบการเดินหน้าทำการลงทุนประกอบธุรกิจและดำเนินกิจกรรมในส่วนของการผลิตได้ต่อเนื่องและให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ พร้อมมาตรการทางด้านความปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงต่างๆ อาทิ การนำเอาระบบอัตโนมัติ, เทคโนโลยีและแพลตฟอร์มต่างๆ มาใช้ในโลกของการทำงานมากขึ้น ทางด้านความต้องการของนายจ้างส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และจังหวัดที่เป็นหัวเมืองใหญ่ๆ ในแต่ละภูมิภาค อาทิ สมุทรปราการ, ปทุมธานี, ระยอง, ชลบุรี, อยุธยา, ฉะเชิงเทรา, เชียงใหม่, นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น นายจ้างส่วนใหญ่มีความต้องการแรงงานในลักษณะหมุนเวียนในประเทศและประจำพื้นที่ ขณะเดียวกันความต้องการแรงงานไปทำงานในต่างประเทศยังคงมีอุปสงค์อยู่ แม้มีเงื่อนไขทางด้านสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา  

พร้อมกันนี้ยังทำการสำรวจ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน (ภาพในตาราง) ดังนี้ อันดับ 1 สายงานขายและการตลาด 27.26%, อันดับ 2 สายงานวิศวกร 17.31%, อันดับ 3 สายงานบริการลูกค้า 11.05%, อันดับ 4 สายงานบัญชีและการเงิน 7.39%, อันดับ 5 สายงานไอที 7.36%, อันดับ 6 สายงานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 6.35%, อันดับ 7 สายงานทรัพยากรบุคคล 5.94%, อันดับ 8 สายงานธุรการ 5.45%, อันดับ 9 สายงานการผลิต 4.34% และอันดับ 10 งานระยะสั้นต่างๆ 3.97%

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังระบุว่าแรงงานส่วนใหญ่มีความสนใจทำงานในกรุงเทพฯ และหมุนเวียนตามพื้นที่ในประเทศไทยโดยเฉพาะพื้นที่ในกลุ่มเศรษฐกิจพิเศษ EEC ได้แก่ จังหวัดระยองจังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการสำรวจมุมมองผู้ประกอบการในพื้นที่ มีการรับมือและปรับเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้พลิกฟื้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างดี สามารถรับมือได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง

สำหรับทิศทางการสมัครงานมีความสอดคล้องกับตลาดงานที่มีความต้องการแรงงานมากขึ้น แสดงถึงการตระหนักและปรับตัวของแรงงานในการเตรียมพร้อมเข้าสู่ตลาดงานและมีการนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ในการทำงานมากขึ้น แรงงานในปัจจุบันมีการตื่นตัวในการพัฒนาตนเองทางด้านทักษะ ทั้งการรีสกิล และอัพสกิลเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบใหม่, งานใหม่, อาชีพใหม่, บทบาทใหม่ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีและแพลทฟอร์มต่างๆ เพื่อให้ทำงานตอบโจทย์ความต้องการขององค์กร

ทั้งนี้ บทสรุปความท้าทายต่างๆ ที่เกิดขึ้นของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมควรวางแผนรับมือ แสวงหาโอกาสเพิ่มให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมาย ตลาดแรงงานยังคงมีอุปสงค์และมีกำลังแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบขับเคลื่อนธุรกิจและอุตสาหกรรม องค์กรต่างๆ ควรปรับตัวให้มีความยืดหยุ่นและรวดเร็วเท่าทันสถานการณ์ เพื่อให้ก้าวผ่านความไม่แน่นอนและความซับซ้อนของโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ไปให้ได้ องค์กรควรคาดการณ์ผลกระทบต่างๆ ในหลากหลายองศา แล้วหาแนวทางรับมือและแก้ไขอย่างเหมาะสมเพื่อให้ตอบสนองกับการทำงานในวิถีทางใหม่ๆ และสถานการณ์ที่ยังคงผันผวนและยากเกินคาดการณ์ หัวใจสำคัญของการรับมืออยู่ที่ความพร้อมของคนและองค์กรทั้งด้านสุขภาพและความปลอดภัยการสร้างความร่วมมือและวัฒนธรรมองค์กร และที่สำคัญคือการนำเอาเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในองค์กรอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของทั้งพนักงาน, ลูกค้า และพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ หากองค์กรและแรงงานสามารถรู้เท่าทันสถานการณ์และปรับเปลี่ยนได้รวดเร็วทันการเปลี่ยนแปลงก็จะช่วยสร้างโอกาสสู่ความสำเร็จได้ต่อไป

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img