วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlightDITTO ปิดจ็อบ 7 โปรเจกต์รวด รับปีเสือสุดหรูกว่า 1 พันล้านบาท
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

DITTO ปิดจ็อบ 7 โปรเจกต์รวด รับปีเสือสุดหรูกว่า 1 พันล้านบาท

DITTO เปิดศักราชใหม่สุดหรู ปิดจ็อบ 7 โปรเจกต์รวด กว่าพันล้านบาท ทั้งพัฒนาระบบโทรมาตรด้วยการนำเทคโนโลยีล่าสุดและระบบ DATA มาใช้วิเคราะห์เพื่อให้มีความแม่นยำที่สุด ล่าสุด คว้าอีก 2 โปรเจกต์ยักษ์ พิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลแห่งแรกของไทยด้วยระบบสุดไฮเทค และศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก

นายฐกร รัตนกมลพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิทโต้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) “DITTO” เปิดเผยว่า บริษัท สยาม ทีซี เทคโนโลยี ในเครือบริษัท ดิทโต้ ชนะประมูลโครงการของภาครัฐอีก 7 โครงการมูลค่า 1,023,500,000.00 (หนึ่งพันยี่สิบสามล้านห้าแสนบาท) ทั้งหมดเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว ดังนี้

โครงการพัฒนาระบบติดตามสถานการณ์น้ำทางไกลอัตโนมัติ (ระบบโทรมาตร) 2 โครงการ โครงการแรกดำเนินงานในพื้นที่ลุ่มน้ำสงครามและลุ่มน้ำห้วยหลวง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสกลนคร อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ และนครพนม มูลค่าโครงการ 28,700,000 บาท ส่วนโครงการที่ 2 ดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช และอำเภอบางสะพาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ มูลค่าโครงการ 36,700,000  บาท

โครงการพัฒนาระบบโทรมาตรทั้ง 2 โครงการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้งและความสมดุลน้ำมีประสิทธิภาพ  รวมทั้งการเฝ้าระวัง พยากรณ์ และการแจ้งเตือนภัยในช่วงน้ำวิกฤติ โดยการพัฒนาระบบโทรมาตรเพื่อเพิ่มข้อมูลที่ได้จากระบบการตรวจวัดดังกล่าว ทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นระบบลุ่มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายฐกร กล่าวต่อไปอีกว่า โครงการที่สาม เป็นการซ่อมแซม ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ระบบตรวจวัดสภาพน้ำทางไกลอัตโนมัติ (ระบบโทรมาตร) ลุ่มน้ำบางปะกงและปราจีนบุรีครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด จะเป็นการซ่อมบำรุง ปรับปรุง หรือเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ชำรุดของระบบ Hardware และ Software ในสถานีหลัก มูลค่าโครงการ 22,350,000 บาท

โครงการที่ 4 ติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning) สำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ดินถล่ม ในพื้นที่ลาดชันและพื้นที่ราบเชิงเขาเพื่อศึกษา สำรวจและกำหนดจุดตั้งสถานีเตือนภัย จำนวน 156 สถานี ให้เตือนภัยครอบคลุมในพื้นที่ 254 หมู่บ้าน จัดหาและจัดทำระบบเตือนภัยให้มีการตรวจวัดข้อมูลด้านอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาพร้อมอุปกรณ์สื่อสารข้อมูล ทำการประชาสัมพันธ์และซักซ้อมความเข้าใจให้ประชาชนในพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มูลค่าโครงการ 94,450,000 บาท ทั้ง 4 โครงการข้างต้นดำเนินการโดยกรมทรัพยากรน้ำ

“การพัฒนาระบบและการปรับปรุงระบบโทรมาตรดังกล่าวจะเป็นการนำ DATA มาทำการวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อให้การคำนวณโอกาสการเคลื่อนที่ของมวลน้ำได้อย่างถูกต้อง ลดความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและประชาชนจะได้รับการเตือนภัยล่วงหน้าอย่างแม่นยำ” นายฐกร กล่าว

นายฐกร กล่าวอีกว่า ยังมีโครงการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ธรณีวิทยาและธรรมชาติวิทยา จังหวัดสุราษฏร์ธานีโดยกรมทรัพยากรธรณี  เป็นส่วนต่อขยาย ระยะที่ 4 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านทะเลดึกดำบรรพ์และพิบัติภัยทางธรณีวิทยาและธรรมชาติ โดยจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผสมผสานกับระบบ DATA และให้ผู้เข้าชมได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ ผ่านระบบ Interactive 3D Mapping พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางทะเลดึกดำบรรพ์ของประเทศไทยที่มีความทันสมัยที่สุดและเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ มูลค่าโครงการ 112,450,000 บาท

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดภูเก็ต โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลแห่งแรกของไทย บนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ไฮไลต์ จะเป็นโดม 3 มิติ ที่ทันสมัยจัดแสดงความรู้และเรื่องราวสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลไทยในระบบ 3 มิติ โดยจะทูลเกล้าถวายเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนุรักษ์แนวปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทย ในพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในอนาคตพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย มูลค่าโครงการ 368,800,000 บาท

สุดท้าย โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลก โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์ไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ของโลก และเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาวิจัย สร้างองค์ความรู้ในทางนิเวศธรรมชาติป่าชายเลนทั้งในและต่างประเทศ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนนวัตกรรมและวิจัย มีอาคารพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด อาคารนวัตกรรมและงานวิจัยโซนนี้จะนำระบบเทคโนโลยีทีทันสมัยและใช้ DATA เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ โซนศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเป็นพื้นที่ทางเดินเพื่อศึกษาธรรมชาติ มีหอชมวิว ศาลาพักคอย ท่าเรือ สะพาน และอุโมงค์เพื่อศึกษาระบบรากป่าโกงกาง โซนบริการประชาชน โซนสำนักงาน และสัมมนา จะมีอาคารอบรมสัมมนา เป็นต้น มูลค่าโครงการ 375 ล้านบาท

“ทั้งนี้บริษัท สยามทีซี เทคโนโลยี มีความเชี่ยวชาญมีประสบการณ์ด้านบริหารจัดการน้ำและด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีมานาน ผลงานที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์ อย่างไรก็ตาม 7 โครงการนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น คาดว่าในปีนี้บริษัทจะเข้าร่วมประมูลอีกหลายโครงการ ซึ่งจะทำให้รายได้ปีนี้เป็นไปตามเป้าหมาย” นายฐกร กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img