กระทรวงคมนาคมเป็นอีกกระทรวงที่มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ต่อเนื่องมากทุกปี โดยในปี 65 อัดฉีดเม็ดเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) การลงทุนพัฒนาทางด่วน การลงทุนรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า การลงทุนพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำ พัฒนาท่าเทียบเรือ รวมถึงการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทั้งทางบก ราง น้ำ อากาศ ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้โครงข่ายที่สมบูรณ์ เกิดประโยชน์ต่อประเทศ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด – 19 คลี่คลาย เพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง ใช้ชีวิต และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทย
การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในปี 2565 นั้นมีเม็ดเงินลงทุน 1.4 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่ได้ลงนามสัญญาแล้ว 516,000 ล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 974,000 ล้านบาท คาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 154,000 ตำแหน่ง และมีส่วนที่จะต้องจัดหาวัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ รวมทั้งเครื่องจักรและยานพาหนะะต่างๆ ประมาณ 1.24 ล้านล้านบาท และจากการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ด้วยสูตรคำนวณที่เป็นผลมาจากงานวิจัยของ Global Infrastructure Hub and Cambridge Economic Policy Associates ของสหภาพยุโรปจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ หรือ Multiply Effect ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี หรือคิดเป็น 2.35% ของ GDP
ทั้งนี้แผนลงทุนของกระทรวงคมนาคม ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ อยู่ระดำเนินโครงการก่อสร้าง และเตรียมประกวดราคาอยู่หลายโครงการไม่ว่าจะเป็น การพัฒนารถไฟฟ้าในกรุงเทพ และปริมณฑล โดยมีทั้งหมด 14 สาย (สี) ระยะทาง 554 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 6 สาย 11 เส้นทาง
นอกจากนี้ยังมีอีก 4 สายที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และจะเปิดใช้บริการได้ในเร็วๆนี้ คือ รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี และช่วงสถานีศรีรัช-เมืองทองธานี เปิดบริการเดือนกรกฏาคม 2565 รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และแยกรัชดา-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน เปิดให้บริการเดือนมิถุนายน 2565 สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี คาดว่าจะเสร็จเดือนธันวาคม 2568 และแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ช่วงพญาไท–บางซื่อ–ดอนเมือง จะเปิดให้บริการ ปี 2570 อีกทั้งยังมีอีก 4 สายที่อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทุน และเปิดประมูล ซึ่งจะเปิดให้บริการปี 2570 เป็นต้นไป
ส่วนแผนสร้างรถไฟทางคู่นั้นจากที่ผ่านมาไทยมีระบบรางเป็นราวเดี่ยว ถือเป็นการปฏิรูประบบรางทั้งประเทศไทย เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า ลดต้นทุนการขนส่ง และโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเชื่อมโยงตะวันออกสู่ตะวันตก เหนือสู่ใต้ และยังรองรับการเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งได้วางแผนการลงทุน ทั้งในส่วนของรางรถไฟเดิม และการก่อสร้างเส้นทางใหม่ ซึ่งปี 2565 ก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะแรกจะแล้วเสร็จ 1,111 กม.
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอยู่ 2 เส้นทาง คือ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีนระยะทาง 2,506 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.62 ล้านล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. คาดว่าจะเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2570 – 2571 ซึ่งจะช่วยในด้านการค้า การขนส่ง และช่วยพัฒนาการท่องเที่ยว กระจายรายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับการลงทุนพัฒนาทางน้ำก็อยู่ระหว่างดำเนินโครงการท่าเทียบเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนโครงการท่าเรือบก (DryPort) เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นแผนคู่ขนานกับรถไฟรางคู่ เพื่อขนส่งทางรถไฟได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และตรงเวลา โดยจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบกเสร็จแล้ว และกำลังดำเนินการศึกษา และจัดทำรายงานแผนการลงทุนร่วมภาครัฐเอกชน (พีพีพี)
การลงทุนพัฒนาทางอากาศ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT อยู่ระหว่างดำเนินการโดยขยายศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศอย่างอื่นๆ ทั้งที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล ของกรมท่าอากาศยาน และ AOT เพื่อรองรับต่างชาติในการเดินทางมายั่งไทย โดยคาดว่าในระยะเวลา 10 ปี (2565-2574) จะมีผู้โดยสารมากถึง 200 ล้านคนต่อปี
นอกจากนี้การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีแผนบูรณาการให้เชื่อมโยงการเดินทาง การขนส่งได้อย่างคล่องตัว และปลอดภัย กระทรวงคมนาคมได้เตรียมแผนงานสำหรับอนาคตของประเทศ โดยได้เริ่มดำเนินการศึกษาจัดทำแผนและพร้อมจะเดินหน้าโครงการในครึ่งปีหลัง 2565 ไม่ว่าจะเป็น การศึกษาจัดทำแผนแม่บท MR-Map เป็นแผนการพัฒนาระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ และกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น
โดยรูปแบบ MR-Map เป็นการพัฒนาแนวโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานไปกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ ตามแผนประกอบด้วย 10 เส้นทางทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการสร้างโครงข่ายการค้า การลงทุนของประเทศ เชื่อมโยงระบบคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่งเสริมการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค
โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย – อันดามัน ซึ่งโครงการ Land Bridge ชุมพร – ระนอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รูปแบบการพัฒนาและรูปแบบการลงทุนโครงการ และเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จในปี 2566 ตามแผนจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 พร้อมเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573