วันอังคาร, พฤศจิกายน 26, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSจับตา...“เจวี เอเอ็มซี” แก้หนี้เน่าได้แค่ไหน?
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

จับตา…“เจวี เอเอ็มซี” แก้หนี้เน่าได้แค่ไหน?

พิษจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แม้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก หลากหลายธุรกิจต้องปิดกิจการ ต้องปลดคนงานสารพัด แต่ผลของปัญหายังไม่ได้สะท้อนภาพรวมของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ “เอ็นพีแอล” อย่างแท้จริง

เพราะที่ผ่านมา…ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ได้ออกสารพัดมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ไม่ให้ต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้นไปอีก มีทั้งการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การพักทรัพย์พักหนี้

ด้วยมาตรการเหล่านี้ ได้ทำให้ตัวเลขของ “เอ็นพีแอล” หรือ “หนี้เน่าทรงตัว” หรือพูดง่าย ๆ ก็หมายความว่า ยังไม่โผล่ออกมาให้เห็นมากนัก แต่สัญญาณของหนี้จัดชั้น ก็กำลังไหลเป็นหนี้เสียกว่า 1.1 ล้านล้านบาททีเดียว

ก่อนหน้านี้ผู้บริหารแบงก์ชาติเอง ออกมาระบุไว้ชัดเจนว่า ทิศทางหนี้เอ็นพีแอล ในปีนี้…ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่ไม่ได้รุนแรงอย่างที่ใครหวาดกลัว จนทำให้เกิด “หน้าผาเอ็นพีแอล” หรือ NPL Cliff

แต่การปรับขึ้น คงไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นรุนแรง จนทำให้เกิด “หน้าผาเอ็นพีแอล” เพราะทั้งแบงก์ชาติและสถาบันการเงินได้เข้าไปช่วยเหลือไว้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นของหนี้เสียนั้น ได้แต่หวังว่าบรรดานายแบงก์ทั้งหลาย จะสามารถบริหารจัดการได้

อย่างไรก็ตาม!! ยังมีความกังวลจากบรรดากูรู จากนายแบงก์ เพราะมาตรการช่วยเหลือของทั้งแบงก์รัฐ แบงก์เอกชน จะหมดลงในช่วงกลางปี 65 หากไม่มีมาตรการรองรับ อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้

ที่สำคัญ…สัญญาณของเศรษฐกิจเอง ใช่ว่า…จะทะยานฟื้นตัวขึ้นมาทันทีทันใด โดยล่าสุด…ไอเอ็มเอฟ หรือ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” ได้ปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 65 นี้ ลงอีกเหลือเพียง 4.4% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.9%

ไม่เพียงเท่านี้!! ไอเอ็มเอฟ ยังลดการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงไปด้วยเช่นกัน โดยอยู่ที่ 4.1% จากเดิมที่คาดไว้ 4.5% ด้วยหลายเหตุปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวรัสโอมิครอน ที่ส่งผลกระทบรุนแรงกับการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกนี้ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อที่เริ่มทะยานเพิ่มมากขึ้น

หากหันมาดูภาพรวมของหนี้เสียล่าสุด…ในไตรมาสที่ 3 ของปี 64 ที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.14% หรือมีหนี้เสียคงค้างที่ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ 3.09% เช่นเดียวกับสินเชื่อจัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.69% จาก 6.34%

บรรดาหนี้เน่าหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นก็มาจาก สินเชื่อธุรกิจ ที่เอ็นพีแอลปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.25% จาก 3.17% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับลดลงมาอยู่ที 2.89% จาก 2.92%

เรื่อง “หนี้เน่า” เริ่มโผล่ ทั้งแบงก์ชาติ แบงก์รัฐ แบงก์พาณิชย์ ต่างรู้ต่างเห็นถึงสัญญาณนี้อยู่แล้ว ล่าสุด…แบงก์ชาติก็พยายามผลักดันให้แบงก์พาณิชย์ บริษัทแม่หรือบริษัทลูก สามารถไปร่วมทุนกับเอเอ็มซี เพื่อจัดตั้ง “บริษัทบริหารหนี้เน่า” ที่เรียกว่า “เจวี เอเอ็มซี” ได้

บริษัทบริหารหนี้เน่า!!ดังว่านี้…สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา และต้องจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี คือ ภายในสิ้นปี 67 รวมทั้งเมื่อทำหน้าที่บริหารหนี้เน่าเสร็จเรียกร้อยแล้ว ต้องปิดตัวเองภายใน 15 ปี

“เจวี เอเอ็มซี” นี้สามารถรับซื้อ “เอ็นพีแอล” และ “เอ็นพีเอ” หรือสินทรัพย์รอการขาย เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น โดยธนาคารพาณิชย์สามารถโอนขายลูกหนี้เอ็นพีแอลมาที่บริษัทร่วมทุนฯ ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้วเท่านั้น ยกเว้นกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย อย่างติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ ตามตัวไม่พบ เป็นต้น

ในแง่ของราคาสินทรัพย์ที่ซื้อขายระหว่างกันนั้น ชัดเจน!!ว่า ต้องเป็นราคาปกติของการซื้อขาย หรือราคายุติธรรม ที่ผู้ซื้อ-ผู้ขาย ตกลงกันเองได้เลย ไม่ต้องมาขออะไรจากแบงก์ชาติทั้งนั้น เพราะเป็นเรื่องของเอกชน

ถามว่า? ปัจจุบันไทยไม่มี “เอเอ็มซี” หรือมีไม่เพียงพอหรือ? คำตอบชัด ๆ จากแบงก์ชาติ ก็เพียงแค่ว่า “เป็นทางเลือก” ในการบริการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กับบรรดาระบบแบงก์พาณิชย์

ขณะเดียวกันยังต้องให้ความช่วยเหลือกับบรรดาลูกหนี้ที่รับโอนมาโดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่อไปด้วย เพราะไม่เช่นนั้น ทั้งแบงก์ ทั้งลูกหนี้ อาจสะดุด หากหนักหน่อยก็อาจล้มหายตายจากไปเลยก็ได้

ณ เวลานี้ บรรดานายแบงก์ อย่างน้อย 2-3 ราย ที่แสดงความสนใจที่จะจัดตั้ง “บริษัทร่วมทุนเจวี เอเอ็มซี” กันแล้ว เพราะอย่างน้อยราคาสินทรัพย์ที่นำมาบริหาร ก็น่าจะดีกว่าการใช้วิธีเดิม ๆ อย่างการ “ตัดขาย” ในแต่ละปี ที่อาจได้ราคาสินทรัพย์ที่ไม่โดนใจเท่าใดนัก

เอาเป็นว่า…ณ เวลานี้ ก็ขอให้แนวทางรับมือหรือแก้ปัญหาหนี้เน่าครั้งนี้ สามารถเดินทางไปถึงฝั่งฝันได้ก็พอ!!!

………………………………….

คอลัมน์ : EC Focus by Virgo

สนับสนุนคอลัมน์ โดย E@ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img