พาณิชย์เผยเงินเฟ้อม.ค.พุ่งแตะ 3.23% เหตุน้ำมันแพง ขณะที่หมู-ไก่-ไข่มีผลเล็กน้อย ชี้หากเทียบกับคู่ค้าสำคัญ-กลุ่มอาเซียนเงินเฟ้อสูงกว่าไทย
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนม.ค. เพิ่มขึ้น 3.23 % หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนธ.ค. 64 อยู่ที่ 2.17% เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นในเดือนนี้เป็นเงินเฟ้อระดับปานกลางที่ค่อนข้างต่ำเกือบเป็นเงินเฟ้ออ่อน และหากพิจารณาเงินเฟ้อประเทศคู่ค้าสำคัญและในกลุ่มอาเซียน (ข้อมูลเดือนธ.ค.64) อาทิ สหรัฐอเมริกา สูงขึ้น 7 % (YoY) สหราชอาณาจักร สูงขึ้น 5.4 % (YoY) สิงคโปร์ สูงขึ้น 4 % (YoY) และฟิลิปปินส์ สูงขึ้น 3.6 % (YoY) ดังนั้น เมื่อพิจารณาภาวะเงินเฟ้อของหลายประเทศในสถานการณ์โลกปัจจุบัน เงินเฟ้อของประเทศไทยอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้เพิ่มสูงขึ้น 3.23 % (YoY) คือ สินค้าในกลุ่มพลังงาน ที่ได้ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ โดยสินค้ากลุ่มพลังงานสูงขึ้น 19.22% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 564 ดังนั้น สินค้าในกลุ่มพลังงานจึงมีผลต่อการขึ้นของเงินเฟ้อถึง 2.25 % เมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด และไข่ไก่ ส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยมาก โดยเนื้อสุกร มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.67 %
ไก่สด มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.03 % และไข่ไก่ มีผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเพียง 0.05% นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ปรับราคาสูงขึ้นเล็กน้อยตามต้นทุน (ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ) จึงส่งผลต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก อาทิ น้ำมันพืช อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน และค่าบริการส่วนบุคคล นอกจากนี้ จากการที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมกราคม 2565 เพิ่มสูงขึ้น 3.23% (YoY) เพราะฐานราคาเดือนเดียวกันของปี 2564 ค่อนข้างต่ำ
ทั้งนี้มองว่าสินค้าในกลุ่มพลังงานส่งผลให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่สินค้ากลุ่มอาหารยังไม่ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยเพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ปรับลดลง อาทิ ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ผักสด ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน และค่าเล่าเรียน ส่งผลให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวในระดับที่ไม่สูงมากนัก
อย่างไรก้ตาม เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ และการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดี ด้านอุปทาน ได้แก่ กำลังการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีการจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง และยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ดัชนีราคาผู้ผลิตปรับสูงขึ้น 8.7 % จาก 7.7% ในเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง ที่สูงขึ้น 6.1 % จาก 8.9 % ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.6 จากระดับ 47.0 ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือนก.พ.คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาฐานของเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นตาม ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าจ้างแรงงาน
นอกจากนี้การยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการผลิตและราคาขายปลีกสินค้าและบริการในลำดับต่อไป ส่วนปัจจัยภายนอกที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าขนส่ง และต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น