นายกฯ ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขานรับใช้เทคโนโลยีในประเทศ หนุนด้านท่องเที่ยวตามนโยบายรัฐบาล เชื่อพอร์ทัลกลางนี้ เมื่อสำเร็จจะเป็นอีกส่วนในการจูงใจให้ชาวต่างชาติสนใจมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการดำเนินนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้ความสำคัญด้านการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมด้านการท่องเที่ยว ทั้งการปรับมาตรการให้สอดรับ เป็นไปตามสถานการณ์ในประเทศ และสถานการณ์ในโลก และเพื่อให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุขควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปด้วย ในโอกาสนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยต่างขานรับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ดำเนินโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ได้อยู่ระหว่างการผลักดันระบบแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้บริการชาวต่างชาติ (One Platform for Foreigner Roadmap) ถือเป็นกลไกสำคัญเพื่อขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล ในส่วนของการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติ ได้แก่ นักท่องเที่ยว แรงงานต่างชาติ นักธุรกิจ นักลงทุนต่างชาติ นักศึกษาต่างชาติและผู้อยู่อาศัยระยะยาวที่ได้วีซ่าสำหรับพำนักในไทยระยะยาว (LTR) ทำให้บุคคลเหล่านี้สามารถเข้ามาใช้บริการภาครัฐผ่านช่องทางดิจิทัล ทำให้รับบริการได้ง่ายขึ้น เชื่อมโยงให้เกิดบริการสาธารณะแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One-Stop Service (OSS) ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งสามารถรับบริการได้ตลอดเวลา ตอบโจทย์ความต้องการและความคาดหวังของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย
นายธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีขอบคุณการสนับสนุนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่พร้อมดำเนินการตามนโยบายที่ได้วางไว้ เชื่อมั่นว่าพอร์ทัลกลางนี้ เมื่อสำเร็จจะเป็นอีกส่วนในการจูงใจให้ชาวต่างชาติสนใจมาเยือนประเทศไทยมากขึ้น เป็นอีกหนึ่งผลงานนำเสนอศักยภาพของไทยให้ชาวต่างชาติได้เห็น นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามมีเอกลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมของไทย ที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก ทั้งมาตรการทางสาธารณสุข ที่พร้อมดำเนินอย่างเข้มแข็งรัดกุม นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยจะท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ในปี 2565 ไทยตั้งเป้าว่าจะมีการท่องเที่ยวของคนในชาติ ประมาณ 160 ล้านคน/ครั้ง และตั้งเป้าว่าจะมีชาวต่างชาติมาไทย 5-15 ล้านคน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าในปี 2565 นี้ ไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1.3-1.8 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลพร้อมเดินหน้าด้วยการให้ความจริงจังกับการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามนโยบาย โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน BCG Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) ซึ่งเน้นเรื่องการท่องเที่ยวสีขาว (White Tourism) ภายใต้ความสะอาด ความยั่งยืน ความเป็นธรรม และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกันรัฐบาลได้พัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้คู่ขนานไปด้วยเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยจะเพิ่มการให้บริการประชาชนตลอดจนนักท่องเที่ยวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาอย่างต่อเนื่องผ่านแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล พ.ศ.2563-2565 ควบคู่กับพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการปรับเปลี่ยนระบบต่างๆ สู่การเป็นองค์กรดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และต่อยอดไปยังการพัฒนาด้านอื่นๆ เพิ่มเติมที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการประชาชน เช่น ด้านการศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมในอนาคตตามเป้าหมายที่กำหนด ภายใต้วิสัยทัศน์ รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน