‘’หมอยง’’ เผยข้อมูลการฉีดวัคซีน mRNA กับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบในวัยรุ่น แนะผู้ปกครองต้องตัดสินใจ ด้วยข้อมูลครบถ้วน
เมื่อวันที่ 6 ก.พ.65 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan หัวข้อ วัคซีนโควิด- 19 การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หลังให้วัคซีน mRNA ในวัยรุ่น โดยระบุว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าวัคซีนมีความจำเป็น ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค covid 19
จากการศึกษาในอิสราเอล เผยแพร่ในวารสาร NEJM (26 Jan 2022) เกี่ยวกับการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตามหลังการให้วัคซีน Pfizer ในวัยรุ่น อายุ 12-15 ปี จำนวนประมาณ 400,000 คน สำหรับเข็มแรก และประมาณ 320,000 สำหรับเข็มที่ 2 โดยเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายเล็กน้อย ข้อมูลที่ได้พบเช่นเดียวกับการศึกษาในอดีต คือการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเกือบทั้งหมด จะเกิดขึ้นในเข็มที่ 2 และพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงมาก
การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ถึงกับต้องนอนโรงพยาบาล ในเด็กชายหลังเข็ม 2 วัคซีน Pfizer จะพบ 1 ใน 12,361 ในการได้รับเข็ม 2 ส่วนเด็กหญิง จะพบน้อยกว่ามาก พบในอัตรา 1 ใน 144,439 หรือน้อยกว่ากันเป็น 10 เท่า
การวินิจฉัยกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะถูกแบ่งเป็น สงสัย น่าจะเป็น และยืนยันการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ในการยืนยันการเป็นกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะต้องอาศัย การตรวจ echo ที่ชัดเจนมาก หรือ MRI หัวใจ หรือ การตรวจชิ้นเนื้อจากการใส่สายตัดมาตรวจ ดังนั้นข้อมูลที่แท้จริงถึงกับยืนยัน คงจะได้น้อยกว่าความเป็นจริง เพราะการเกิดการอักเสบ จำนวนมากมีอาการไม่มาก และหายได้เอง
ภาพที่แสดงการยืนยัน เป็นรูปที่ได้จากการตรวจเด็กไทยหลังได้รับวัคซีน pfizer และตรวจยืนยันว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะ echocardiogram และ MRI ภาพ echo จะเห็นนํ้าอยู่ ในเยื่อหุ้มหัวใจ (pericarditis)
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โรคโควิด 19 ยังคุกคามอย่างหนัก การให้เด็ก และ วัยรุ่นได้รับวัคซีน ยังมีประโยชน์ ในการป้องกันความรุนแรงของโรค
การตัดสินใจจะรับวัคซีนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองโดยชอบธรรม ในการตัดสินใจ ที่ได้ข้อมูลครบถ้วน