วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“กรมเชื้อเพลิงฯ” เล็งเปิดเอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียมครั้งแรกรอบ 15 ปี
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กรมเชื้อเพลิงฯ” เล็งเปิดเอกชนยื่นสำรวจปิโตรเลียมครั้งแรกรอบ 15 ปี

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน เตรียมเสนอ “สุพัฒนพงษ์” ลงนามประกาศเชิญชวนเอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 24 ปี 2565 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทย

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  เปิดเผยว่า  กรมฯ เตรียมนำเสนอนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงานพิจารณาการลงนามประกาศเพื่อเชิญชวนเอกชนเข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 ปี 2565 จำนวน 3 แปลงในทะเลอ่าวไทยภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ซึ่งถือเป็นการเปิดให้สำรวจฯ ครั้งแรกในรอบ 15 ปีจากครั้งสุดท้ายที่ดำเนินการไปเมื่อปี 2550 

ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศและลดการสูญเสียเงินตราในการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศเข้ามา โดยประเมินเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำสุดที่จะเกิดขึ้นประมาณ 1,500 ล้านบาท (กรณียังไม่พบแหล่งปิโตรเลียม)

สำหรับ 3 แปลงทะเลอ่าวไทยประกอบด้วย 1. แปลงหมายเลข G1/65 พื้นที่ 8,487 ตารางกิโลเมตร(ตร.กม.) แบ่งเป็นพื้นที่ A 8,298.49 ตร.กม. พื้นที่ B 188.71ตร.กม. 2. แปลง G2/65 พื้นที่รวม 15,030 ตร.กม.และ 3. แปลงหมายเลข G3/65 แบ่งเป็นพื้นที่ A 11,028.22 ตร.กม. พื้นที่ B 618.45 ตร.กม. ซึ่งแปลงทั้งหมดมีศักยภาพการผลิตทั้งน้ำมันและก๊าซฯ โดยเบื้องต้นพบว่ามีบริษัทสำรวจฯระดับกลางให้ความสนใจมาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถเปิดให้เอกชนมาซื้อเอกสารประมูลได้ก่อนเทศกาลสงกรานต์  จากเดิมมีแผนจะเปิดประมูลตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้านี้ แต่เจอโควิด-19 เสียก่อนจึงทำให้นักลงทุนสนใจจะเดินทางมาดูข้อมูลยากลำบาก ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบก็อยู่ในสภาพตกต่ำที่สุด แต่แม้ว่าเราจะเปิดและสรุปได้รายชื่อผู้ชนะปลายปีนี้การผลิตจริงก็น่าจะเกิดได้ในปี 2569 เพราะ จะต้องสำรวจฯ พิสูจน์การผลิต และ ขอพื้นที่ผลิต  

สำหรับการลงทุนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมปีนี้กรมฯ ประเมินว่าจะใกล้เคียงกับทุกๆ ปีเฉลี่ยอยู่ระดับ 1-2 แสนล้านบาท โดยในส่วนของการจัดหาปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศปี 2564 คิดเป็น 695,176 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลงจากปี 2563 คิดเป็น 4.6% 

ขณะที่การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐปี 2564 (ม.ค.-ธ.ค.) 53,637 ล้านบาท (ค่าภาคหลวง, ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ รายได้จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) รายได้อื่นๆ) ลดลงจากปี 2563 คิดเป็น 3.3% เนื่องจากการผลิตลดลง และแหล่งผลิตน้ำมันดิบในประเทศบางส่วนเลิกกิจการจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำก่อนหน้านั้นถือเป็นหน่วยงานรัฐที่จัดเก็บรายได้เป็นอันดับ 4 ของประเทศ โดยเมื่อรวมกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดโดยกระทรวงการคลังอีก 49,948 ล้านบาทจะทำให้มีเงินนำส่งรัฐสูงถึง 100,000 ล้านบาท

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img