กูรูมองเงินเฟ้อสหรัฐฯ พุ่งสูงสุดรอบ 40 ปี ทุบตลาดเงิน-ตลาดทุนป่วน ต้นทุนธุรกิจ-ภาระการคลังเพิ่ม ธปท.เจอโจทย์ท้าทายดำเนินนโยบายการเงิน
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยถึงกรณีที่เงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน ม.ค.ที่พุ่ง 7.5% ต่อปี ซึ่งสูงสุดในรอบ 40 ปีว่า จะกระทบไทย เพราะเงินเฟ้อสหรัฐฯมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้จะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ โดยปีนี้อาจเห็นการปรับขึ้นถึง 7 ครั้ง จากที่คาดไว้เพียง 5 ครั้ง โดยเดือน มี.ค.อาจขึ้นถึง 0.50% ถึงสิ้นปีนี้ ดอกเบี้ยสหรัฐอาจขึ้นไปอยู่ใกล้ 2%
นอกจากนี้จะทำให้ตลาดเงิน ตลาดทุนเกิดความปั่นป่วน เนื่องจากดอกเบี้ยที่ต่างกันระหว่างสหรัฐ-ไทย ทำให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอยู่ตลอด และส่งผลต่อสภาพคล่องในประเทศ ต้นทุนการเงิน รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มจะอ่อนค่า เพราะ 2 ปัญหาคือ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่สูงกว่าไทย และไทยยังขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ เพราะนักท่องเที่ยวยังไม่กลับคืนมา
ทั้งนี้เห็นว่าภาคธุรกิจจะมีผลกระทบ 2 ด้าน คือ 1.กำไรจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นได้ 2.ต้นทุนทางการเงิน (cost of fund) เมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯเพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยไทยก็จะขยับตาม แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะดำเนินการอย่างไร
“แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยไม่ได้ช่วยลดเงินเฟ้อ แต่หากดอกเบี้ยสหรัฐต่างกับดอกเบี้ยไทยมากขึ้น ต้องดูว่ากนง.จะแก้ปัญหาอย่างไร หากสถานการณ์ราคาพลังงานยังเพิ่มต่อเนื่อง เงินเฟ้อไม่ลดก็จะมีปัญหา ภาระการคลังตามมาอีก จากการใช้หลายมาตรการพยุงเงินเฟ้อ ถึงจุดหนึ่งต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการปล่อยให้เงินเฟ้อขึ้น กับปัญหาภาระการคลังที่สูงขึ้น”ดร.พิพัฒน์ระบุ
ดร.เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดคาดการณ์เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 7 ครั้งในปีนี้ และถึงสิ้นปีดอกเบี้ยสหรัฐน่าจะขึ้นไปที่ระดับ 1.75-2.00% หากเป็นเช่นนี้จะกระทบไทย เพราะดอกเบี้ยต่างกันมาก ต้องดูว่า กนง.จะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเฟดขึ้นดอกเบี้ยและไทยต้องขึ้นตาม เพราะเศรษฐ กิจมีความต่างกัน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากนง.ส่งสัญญาณคงดอกเบี้ยเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันไม่รู้ว่าจะยืนดอกเบี้ยได้นานแค่ไหน