นายกฯ เตรียมเป็นประธานลงนามจอง-ซื้อวัคซีนโควิด-19 ที่จองล่วงหน้าในวงเงิน 6,049,723,117 บาท และ ไทยมีโอกาสได้วัคซีนเร็ว กลางปี 64
เมื่อวันที่ 25 พ.ย. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 พ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะเป็นประธาน พิธีลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน กับบริษัทแอสตร้าเซเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดน หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 17 พ.ย.เห็นชอบโครงการ
จัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีน ในวงเงิน 6,049,723,117 บาท โดยให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ภายใต้เงื่อนไขว่ามีโอกาสที่จะได้รับวัคซีนหรือไม่ได้รับวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลการวิจัยพัฒนาหรือเหตุอื่น ๆ ในวงเงิน 2,379,430,600 บาท โดยจะมีการลงนามที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข่าวดีเกี่ยวกับการวิจัยวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทแอสตร้าเซเนก้า โดยผลการวิจัยวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีประสิทธิผลเกินข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(WHO) ที่กำหนดมาตรฐานการรับรองวัคซีนป้องกันโควิด 19 ต้องมีประสิทธิผลไม่ต่ำกว่า 50% ซึ่งการวิจัยแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรก พบว่าประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 สูงถึง 90% ส่วนแบบที่สอง พบว่ามีประสิทธิผลในการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ 62% ค่าเฉลี่ยประสิทธิผลโดยรวมของทั้ง 2 แบบ อยู่ที่ 70.4% และวัคซีนยังมีความปลอดภัยสูงด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลงนามในสัญญาการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว จะทำใหัคนไทยมีโอกาสเข้าถึงวัคซีนมากกว่าประเทศอื่น โดยคาดว่าจะได้รับวัคซีนกลางปี 2564 เพราะความร่วมมือดังกล่าว ยังหมายรวมถึงการผลิตวัคซีนในประเทศไทย ที่จะใช้โรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นแหล่งการผลิต โดยไทยจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงถือเป็นโอกาสในการสร้างขีดความสามารถของประเทศ ลดความสูญเสีย สร้างโอกาสทางด้านเศรษฐกิจมหาศาล