สสส.จับมือทุกภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กลไกควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มุ่งลดปัจจัยเสี่ยง-ความรุนแรงจากปัญหาสุรา พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายควบคุมน้ำเมาของไทยในทศวรรษที่สอง
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.ที่ โรงแรมแมนดาริน ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ปีที่ 11 ภายใต้หัวข้อ “ก้าวสู่ทศวรรษที่สองของนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย” เพื่อแสวงหานโยบาย มาตรการ กฎหมาย กลไกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิผล และความรุนแรงของปัญหาจากสุรา
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปัญหาหลายมิตินอกจากมิติสุขภาพ ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อคนในสังคม จากผลสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2544 – 2560 การดื่มแอลกอฮอล์ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 32.6 ในปี 2544 มาเป็นร้อยละ 30.0 ในปี 2550 และในปี 2560 ลดลงอีก เป็นร้อยละ 28.4 สะท้อนให้เห็นว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการดื่มลดลง สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 151,607 ล้านบาท ในปี 2548 เป็น 142,230 ล้านบาท ในปี 2560
“สสส. ยังคงมุ่งเน้นการทำงานเพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้ความสำคัญกับการทำงานที่อาศัยความร่วมมือกันอย่างเป็นระบบของทุกภาคส่วน โดย สสส. ยังคงให้ความสำคัญกับการสร้างองค์ความรู้ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมและภาคนโยบาย รวมถึงต่อยอดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมบุญประเพณีปลอดเหล้า การร่วมใจงดเหล้าเข้าพรรษาต่อเนื่องทุกปี และสร้างความร่วมมือให้ทุกจังหวัดร่วมจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดเหล้า ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งร่วมกันของทุกภาคส่วน และช่วยป้องกันผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ผจก. กองทุน สสส. กล่าว
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า จากการสำรวจการรับรู้ ความคิดเห็น และทัศนคติของประชาชนไทยต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 เห็นว่าสุราเป็นสิ่งให้โทษต่อสังคมไทย และส่วนใหญ่เห็นด้วยกับทุกประเด็นเกี่ยวกับกฎระเบียบ มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้ว่าสิบปีหลังจาก พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้
พบว่าจุดจำหน่ายสุราลดลง การพบเห็นการโฆษณาสุราลดลง พื้นที่ปลอดสุรามีจำนวนเพิ่มขึ้น วันและระยะเวลาที่จำกัดการเข้าถึงสุราเพิ่มมากขึ้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันเมื่อมีการเข้าถึงโฆษณาและการซื้อขายสุราทางออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นโจทย์ยากสำหรับทีมที่ทำงานด้านนี้ที่ต้องปรับเปลี่ยนมาตรการให้ทันกับสถานการณ์ ดังนั้นการมีกฎหมายที่สามารถควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้ถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะ