เราขัดแย้งกันมาตั้งแต่ปี 2547 ก่อนจะแตกหักยึดอำนาจในปี 2549 แล้วมาเลือดนองปี 2553 และวนมายึดอำนาจอีกครั้ง 2557
อันที่จริงการเมืองไทยขัดแย้งอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 สลับกันครองอำนาจ ระหว่างฝ่ายเผด็จการกับฝ่ายประชาธิปไตย
แต่สรุปแล้วฝ่ายเผด็จการจะครองอำนาจได้ยาวนานกว่า เพราะความขัดแย้งสร้างเงื่อนไขให้ฝ่ายเผด็จการมีความชอบธรรมในการครองอำนาจนั่นเอง
กระทั่งปี 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ขึ้นสู่อำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องยาวนาน 8 ปี เพราะใช้แนวทางการประนีประนอมในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ และใช้นโยบาย 66/23 สลายเงื่อนไขสงครามกลางเมือง ที่เป็นการต่อสู้ระหว่างฝ่ายรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)
พ้นจากยุค พล.อ.เปรม ประเทศไทยกลับมาเป็นประชาธิปไตยเต็มใบ โดยมี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัน เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่นานก็ถูกรัฐประหารในปี 2534
ฝ่ายประชาธิปไตยไม่พอใจจึงลุกฮือประท้วง เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬในปี 2535 ประชาชนสามารถขับไล่เผด็จการได้สำเร็จ
ผลสะเทือนจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้ผลักดันให้สังคมไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ เปิดกว้างให้ประชาชนเข้าถึงอำนาจมากขึ้นจากการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540
แต่หลังจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ 9 ปี ก็เกิดการรัฐประหารในปี 2549 จากนั้นมีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550 แต่ยังมีโครงสร้างทางอำนาจคล้าย ๆ กับรัฐธรรมนูญ 2540 สถานการณ์ก็กลับซ้ำรอยเดิม เพราะผ่านไปเพียง 7 ปี ก็เกิดรัฐประหารอีก ในปี 2557
ถ้าสังเกตในรายละเอียดจะพบว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่คนไทยแบ่งเป็น 2 ขั้วอย่างต่อเนื่องนั้น เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
วงจรความขัดแย้งยังอยู่ในรูปแบบเดิมคือ เริ่มจาก ประท้วง ปะทะ ยึดอำนาจ ร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาล แล้วก็วนกลับมาประท้วงอีกครั้ง
ล่าสุดเห็นปรากฏการณ์คล้าย ๆ กับม็อบเสื้อแดง 2 ประการ คือ
1.คุณพลาม พรมจำปา อ้างตัวเป็นครูฝึกหน่วยรบพิเศษตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร เปิดโรงเรียนสอนการต่อสู้ด้วยมือเปล่าในรั้วธรรมศาสตร์ รังสิต ให้กับการ์ดกลุ่มราษฎร 2563 คล้ายกับกรณี เสธ.แดง หรือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล จัดอบรมการต่อสู้ให้กับการ์ดเสื้อแดง บางส่วนเกิดความฮึกเหิมจึงเข้าปะทะกับทหารที่สี่แยกคอกวัว และโดนล้อมปราบที่แยกราชประสงค์ภายหลังในปี 2553
2.ม็อบเด็กใช้ “คำศัพท์จัดตั้ง” สื่อสารกันในหมู่ผู้ประท้วง เช่น คำว่า “แกง” หมายถึง “แกล้ง” ส่วน “เท” หมายถึง “ทิ้ง” และ “โพ” หมายถึง “โปลิศ” หรือตำรวจ เมื่อรวมกันเป็นคำว่า “แกงเทโพ” หมายถึง แกล้งตำรวจ หากนำไปเทียบกับเสื้อแดงในอดีต ก็มีการใช้คำศัพท์จัดตั้ง เช่น เรียกฝ่ายตรงข้ามว่า สลิ่ม แมลงสาป
ทำให้คิดถึงย้อนไปถึงนักศึกษาที่เคยเข้าป่า พอกลับมาอยู่เมือง ก็ยังใช้ “คำศัพท์จัดตั้ง” และหลายคำได้กลายเป็นคำศัพท์ทั่วไป เช่น ปลดแอก แกนนำ แนวร่วม ศักดินา กฎุมภี เป็นต้น
เห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคล้าย ๆ กัน 2 เหตุการณ์ สงสัยจะได้กลับไปดูหนังม้วนเก่ากันอีกรอบ.
……………………………….
#ดินสอโดม