ประเทศไทยไม่ได้รับประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จากเดิม 1 ใบ เพื่อเลือกส.ส.เขต 400 คน-ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100 คน เดิมมีส.ส.เขต 350 คน-ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 150 คน
ขณะนี้กมธ.วิสามัญพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพรรคการเมือง รัฐสภา กำลังเปิดฟลอร์ ตะลุมบอน “กติกา” ออกมาให้เอื้อต่อฝ่ายของตัวเอง
ในจังหวะเดียวกันคณะจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม เปิดเวทีสาธารณะ “ประสานมิตร ถอดบทเรียนการรัฐประหาร 23 ก.พ. จากรสช.ถึงเหตุการณ์ 17 พ.ค.35 บทบาททหารกับการเมืองไทย”
ประเดิมเวทีแรกภาคประชาชน ประสานเสียงกึกก้องไปถึงกองทัพว่า “หมดเวลายึดอำนาจ” หวั่นทำอีกประเทศล้มเหลวซ้ำซาก
นับจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เดือนมิ.ย.65 ก็ครบ 90 ปี ประชาธิปไตยแทบหยุดนิ่งอยู่กับที่ แม้ผ่านการปฏิวัติรัฐประหาร ติดอันดับต้นๆ ของโลก
คณะจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ปักธงถอดบทเรียนครั้งนี้ เพื่อให้สังคมเข้าใจปัจจุบัน ปูทางก้าวไปสู่อนาคต โดยพลังขับเคลื่อนของภาคประชาชน
สอดรับกับ งานวิจัยท้าทายประเทศไทย เรื่อง ประเทศไทยในอนาคต ที่ค้นหาภาพฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดของการเมืองไทย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
มีเค้าลางการเมืองมีความเสี่ยงสูง ทำให้รัฐไทยเป็นรัฐที่ล้มเหลว ภายใต้เงื่อนไขความขัดแย้ง แย่งชิงอำนาจทางการเมือง ระหว่าง กลุ่มทุนศักดินาอนุรักษ์ กับ กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตยใหม่
ขณะที่ รัฐสภาก็ไม่เข้มแข็ง ขาดความสามารถหาทางออกให้วิกฤติความขัดแย้งอย่างสันติ พร้อมจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้กลุ่มประโยชน์ที่หลากหลาย
เช่นเดียวกับ รัฐบาลอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีอำนาจพอขับเคลื่อนนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ที่ฝังรากลึกได้ต่อเนื่องได้อย่างมรรคผล
ไม่นับรวม พรรคการเมืองหมดน้ำยา ยกระดับเป็นสถาบันการเมือง เป็นกลไกเชื่อมประโยชน์ของประชาชนผ่านนโยบายสาธารณะ
ที่สำคัญอำนาจทางการเมืองตกอยู่ในมือกลุ่มทหาร ข้าราชการ-ศักดินา และค่านิยมทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองของคนต่างรุ่นต่างวัย
ท่ามกลางโลกเข้าสู่ภาวะปกติใหม่ ภูมิรัฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนโฉมหน้า ภาวะโลกร้อน โรคระบาดร้ายแรง โครงสร้างเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน ลัทธิทางการเมืองเศรษฐกิจในโลกกำลังเปลี่ยน
ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำพุ่ง สังคมผู้สูงอายุ-ชนบทที่มีความเป็นเมืองมากขึ้น บนสภาพเทคโนโลยี-โซเชียลมีเดียกับค่านิยมของคนรุ่นใหม่เป็นแบบปัจเจกชนนิยมใหม่
ปัจจัยเหล่านี้วาดภาพการเมืองไทยในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า มีโอกาสดีขึ้นหรือคงสภาพพิกลพิการ อย่างที่เป็นอยู่หรือถอยหลังล้มเหลว
ทั้งหมดขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ผกผัน 2 ตัวแปรสำคัญ ระหว่าง ระดับความขัดแย้งแตกแยกของ 2 ขั้วความคิดทางการเมืองในสังคมไทย กับ ระดับความสามารถของรัฐหรือระบบการเมืองไทย
ฉากทัศน์แรก การเมืองอยู่ในวังวนความขัดแย้ง
ฉากทัศน์สอง การเมืองที่แตกแยกขัดแย้งรุนแรง สงครามกลางเมือง รัฐล้มเหลว
ฉากทัศน์สาม การเมืองประนอมอำนาจ ถอยคนละก้าว
และ ฉากทัศน์สี่ การเมืองประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากขั้วขวาหรือขั้วซ้าย แต่เป็นอำนาจพลังเงียบของประชาชนลุกฮือ
สุดท้าย…บ้านเมืองถึงทางตันหรือพ้นวิกฤติ ขึ้นอยู่ที่ขึ้นอยู่กับพลังคนไทยทั้งประเทศ
………………………………
คอลัมน์ : ไขกุญแจ/ไขแหลก
โดย #ราษฎรเต็มขั้น