“กรมธุรกิจพลังงาน” เผยสถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงม.ค. 65 เพิ่มขึ้น 20.9% หลังคลายล็อกดาวน์-อัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 152.07 ล้านลิตรต่อวัน(ไม่รวมNGV)เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.9% โดยการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 11.8% กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 24.4% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 75.5% น้ำมันก๊าดเพิ่มขึ้น 2.8% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 40.8% LPG เพิ่มขึ้น 11.7% อย่างไรก็ตาม การใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ลดลง 2.7%
สำหรบการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 30.54 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.8% โดยปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.91 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น 12.2%) การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 แก๊สโซฮอล์ อี20 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.04 ล้านลิตร/วัน 15.79 ล้านลิตร/วัน 6.13 ล้านลิตร/วัน และ 0.95 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ทั้งนี้เป็นผลมาจากการผ่อนคลายล็อคดาวน์และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.63 ล้านลิตร/วัน เนื่องจากราคาเบนซินที่อยู่ในระดับสูง โดยแตะระดับสูงสุด 42.01 บาท/ลิตร ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2565 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2564 พบว่า การใช้ลดลง 9.4 %เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอนหลังเทศกาลปีใหม่
ขณะที่การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 75.87 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.4% สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 62.63 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น 68.9% น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 3.83 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.23 ล้านลิตร/วัน การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการใช้น้ำมันดีเซลในการผลิตไฟฟ้า โดยในเดือนมกราคม 2565 อยู่ที่ 6.94 ล้านลิตร/วัน
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 6.99 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้น75.5 % หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับมาตรการปีก่อนหน้า แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน การใช้น้ำมัน Jet A1 จึงยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 17.19 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.7% เนื่องจากการใช้ในภาคปิโตรเคมีที่สูงขึ้นมาอยู่ที่ 7.54 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 20.9% และการใช้ในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.90 ล้านกก./วัน เพิ่มขึ้น 16.7%
นอกจากนี้ การใช้ในภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.96 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 7.1%) และ 5.78 ล้านกก./วัน (เพิ่มขึ้น 1.6%) ตามลำดับ ส่วนการใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.18 ล้านกก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง 2.7%) โดยเป็นผลจาก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,015,944 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.9% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 926,590 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น 2.6%) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นการนำเข้าจากรัสเซีย 1.2% (ปี 2564 การนำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซียคิดเป็น 3.3% มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 81,810 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 77.5%) สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 89,353 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 7,468 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 150,897 บาร์เรล/วัน (ลดลง 0.8%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 14,575 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น 74%) มูลค่าการส่งออกที่สูงขึ้นนี้เป็นผลจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นในเดือนมกราคม 2565ยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือนม.ค.65พุ่ง20.9%จับตาเบนซินเริ่มแผ่วเหตุราคาแพง