“รมช.สินิตย์” เผยสถิติ ก.พ.65 ไฟเขียวต่างชาติลงทุนในไทย 44 ราย วงเงิน 5,781 ล้านบาท แชมป์ 3 อันดับแรกมาจาก “สิงคโปร์-ญี่ปุ่น-เนเธอร์แลนด์”
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รายงานว่า เดือนก.พ.ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 44 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจจำนวน 16 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจจำนวน 28 ราย เงินลงทุนรวม 5,781 ล้านบาท
สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย 16 รายนั้น ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์ มีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 469 ล้านบาท ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 837 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันสิ่งอันตราย หรือปนเปื้อนอาหาร
สำหรับการประกอบกิจการร้านอาหาร องค์ความรู้เกี่ยวกับสินค้าที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (Broadband System) องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้งการใช้งานและดูแลรักษาเครื่องจักรที่ใช้สำหรับกำจัดฝุ่นดักจับฝุ่น และดูดฝุ่นสำหรับอุตสาหกรรม เป็นต้น
ส่วนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) รวมถึง สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต เช่น
-บริการให้ใช้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการประกอบและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม (Shared Kitchens) ให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ให้บริการบนแพลตฟอร์ม
-บริการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาสินค้าประเภทเครื่องจักรที่ใช้กำจัดฝุ่น
-บริการติดตั้งและให้คำปรึกษาแนะนำทางเทคนิค รวมทั้งแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานสินค้าประเภทอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Broadband System Products)
-บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในซอฟต์แวร์ระบบปฏิบัติการเชื่อมต่ออัจฉริยะ (Internet of Things : IoT) รวมทั้งแอพพลิเคชั่นและแพลตฟอร์มที่ใช้ในการบริหารจัดการระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมต่างๆ และในครัวเรือน เป็นต้น
นอกจากนี้พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่จะลงทุนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 31 ราย และนักลงทุนต่างชาติยังสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 5 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,285 ล้านบาท คิดเป็น 39% ของเงินลงทุนทั้งหมด
ทั้งนี้เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 3 ราย ลงทุน 962 ล้านบาท และสิงคโปร์ 2 ราย ลงทุน 1,323 ล้านบาท และธุรกิจที่ลงทุน อาทิ บริการตรวจสอบ ซ่อมแซม และบำรุงรักษาสินค้าประเภทเครื่องจักรที่ใช้กาจัดฝุ่น การจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสาหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตเครื่องจักร ชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ และบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย เป็นต้น