วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘ธนกร’โต้กลับ‘พิชัย’ให้ข้อมูลด้านเดียว เย้ยแสบปี 57 ตกต่ำสุด-วุ่นวายทั้งเมือง
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘ธนกร’โต้กลับ‘พิชัย’ให้ข้อมูลด้านเดียว เย้ยแสบปี 57 ตกต่ำสุด-วุ่นวายทั้งเมือง

“โฆษกรัฐบาล” สวน “พิชัย” อย่าโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลด้านเดียว ชี้ปี 2555 เศรษฐกิจโตเพราะโครงการ “ประชานิยม” ท้ายสุดล้มไม่เป็นท่า ย้ำปี 2557 ตกต่ำสุด เหตุดื้อดันนิรโทษกรรมสุดซอย วุ่นวายทั้งเมือง

เมื่อวันที่ 22มี.ค.65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยด้านเศรษฐกิจ กล่าวพาดพิงพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหมว่าไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจในช่วง 7 ปีให้เติบโตแม้น้ำมันจะมีราคาถูก และไม่ช่วยประชาชนให้มีชีวิตรอดจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ไม่เหมือนสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ ที่เศรษฐกิจเติบโตถึง 7.2% แม้น้ำมันจะมีราคาสูง ว่า คำกล่าวอ้างของนายพิชัยฯ เป็นเพียงการโฆษณาชวนเชื่อ ให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ไม่ครบถ้วน เพราะปีที่เศรษฐกิจเติบโต 7.2% คือ ปี 2555 ซึ่งขณะนั้นราคาน้ำมันอยู่ในระดับปกติจึงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกหลังผ่านจุดต่ำสุดจากวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป และที่แน่นอนกว่านั้นคือผลจากนโยบายประชานิยมระยะสั้นอย่าง รถคันแรก ที่ช่วงแรกเหมือนจะดูดีแต่สุดท้ายก็ต้องอวสานไปเพราะหลายคนไม่ได้โอนสิทธิ์ ผ่อนต่อไม่ไหว ถูกไฟแนนซ์ยึด จนถูกยกเป็นตัวอย่างของโครงการประชานิยมที่ล้มเหลวมาถึงปัจจุบัน

นายธนกรกล่าวว่า ถ้าดูต่อไปปี 2556 เศรษฐกิจเติบโตลดลงเหลือ 2.7% จนปี 2557 ช่วงปลายรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ฯ เศรษฐกิจเติบโตเพียง 0.8% สาเหตุมาจากความวุ่นวายทางการเมืองเพียงเพราะรัฐบาลในขณะนั้นต้องการทำ ผิดให้เป็นถูกด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ส่วนราคาน้ำมันดีเซลก็พุ่งถึง 29.99 บาท/ลิตร น้ำมันเบนซินแตะราคาสูงสุด 49.15 บาท/ลิตร ถือว่ามากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทำไมนายพิชัยฯ ถึงไม่พูดให้หมด หลังจากนั้นเศรษฐกิจจึงค่อยกลับมาขยายตัวในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ฯ จาก 0.8% ในปี 2557 เป็น 4.1% ในปี 2561 และต่อมาเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงไทยก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนในปัจจุบัน

สำหรับการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานในขณะนี้นั้นครอบคลุมทั้งราคาน้ำมันและก๊าซ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานได้ออกมาชี้แจงอย่างต่อเนื่อง เช่น แนวทางบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินด้านราคาน้ำมัน การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิง การจัดหาและผลิตก๊าซธรรมชาติส่วนเพิ่ม มาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซ LPG ส่วนมาตรการควบคุมค่าไฟฟ้าหลังจากที่ กกพ. มีมติให้ปรับเพิ่มค่าเอฟที รอบเดือน พ.ค.-ส.ค.65 เพื่อให้สะท้อนราคาเชื้อเพลิงที่แท้จริงนั้น รัฐบาลรับทราบปัญหาและจะหาแนวทางดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งจะมีมาตรการชุดใหญ่ออกมาช่วยเหลือประชาชนในไม่อีกกี่วันนี้

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img