“กรมโรงงานอุตสาหกรรม” คุมเข้มโรงงานปล่อยน้ำทิ้ง 287 แห่งทั่วประเทศ เปิดให้ประชาชนติดตามผลได้แบบ real time ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน POMS หากเกินเกณฑ์ส่งดำเนินการตามกฎหมายทันที
นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ประกาศกระทรวงฯ กำหนดให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้โรงงานที่ระบายน้ำทิ้งออกนอกโรงงานตั้งแต่ 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวันขึ้นไป หรือมีปริมาณความสกปรกในรูปของบีโอดีช่วงไหลเข้า (Influent BOD Load) 4,000 กิโลกรัมต่อวันขึ้นไป ต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม
พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจวัดมลพิษทางน้ำแบบอัตโนมัติอย่างต่อเนื่อง (Water Pollution Monitoring System : WPMS) โดยจำนวนโรงงานที่เข้าข่ายทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 287 โรงงานใน 40 จังหวัด และเพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งข้อมูลที่รายงานมายัง กรอ. มีความน่าเชื่อถือ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตรวจสอบค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลโดยเก็บตัวอย่างน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานและตรวจวัดวิเคราะห์คุณภาพของน้ำทิ้งโดยห้องปฏิบัติการ เพื่อประเมินหาค่าความคลาดเคลื่อนในการรายงานค่าบีโอดีหรือซีโอดีของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกล (WPMS)
โดยผลการทวนสอบในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 ถึงมีนาคม 2565 ) พบว่า 50 โรงงาน จาก 65 โรงงานที่ทำการตรวจสอบ เป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนโรงงานที่ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ กรอ. ได้สั่งการปรับปรุงแก้ไขเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลอย่างเร่งด่วน
นอกจากนี้เตรียมจัดทำร่างประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบให้โรงงานที่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียต้องติดตั้งเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษและเครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์เพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. เพื่อให้การทวนสอบค่าความคลาดเคลื่อนของเครื่องมือตรวจวัดมลพิษระยะไกลให้มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
สำหรับกรณีที่เครื่องมือหรือเครื่องอุปกรณ์พิเศษสำหรับตรวจวัดคุณภาพของน้ำทิ้งที่ระบายออกจากโรงงานอุตสาหกรรมแบบอัตโนมัติชำรุด หรือปิดปรับปรุง กรอ. จะกำหนดให้โรงงานต้องดำเนินการเก็บตัวอย่าง และตรวจวัดวิเคราะห์น้ำทิ้งที่ระบายออกนอกโรงงานโดยห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ กรอ. และส่งผลรายงานมายัง กรอ. ทุกสัปดาห์จนกว่าจะปรับปรุงเครื่องมือวัดให้สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในปี 2565
“กรอ. นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการกำกับดูแลระบายมลพิษอุตสาหกรรมผ่านระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล (Pollution Online Monitoring System ; POMS) ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ 287 โรงงาน สามารถติดตามผลการตรวจวัดแบบ Real time ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชัน POMS ได้ทั้งระบบ IOS และ Android หรือติดตามผลได้ที่ เว็บไซต์ https://poms.diw.go.th/ หากเกินเกณฑ์ สั่งดำเนินการตามกฎหมายทันที”