“อาคม”ยันทำงบประมาณขาดดุลประคองเศรษฐกิจ ย้ำวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้งมีการกู้เงินพร้อมขยายเพดานหนี้สาธารณะ แบไต๋เตรียมปรับโครงสร้างภาษีใหม่รีดรายได้ขยายการลงทุนในประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าการทำงบประมาณขาดดุลยาวนานจะกระทบฐานะการคลังระยะยาว จนกลายเป็นการบีบเศรษฐกิจให้ตกหุบเหวในอนาคตว่า การทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องสอดคลังกับประเทศอื่นๆ ซึ่งช่วง2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเกิดวิกฤตโควิด และในอดีตเผชิญวิกฤต 2 ครั้งในปี 2540 และปี 2552 แต่ละครั้ง ก็มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน และการปรับเพดานหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว
หลังจากนั้นจะปรับลดลงเมื่อเศรษฐกิจเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ประเด็นที่ควรต้องทำและ่ยังไม่เคยลงมือปฏิบัติคือ การปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้จากภาษี ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มีแต่การทำนโยบายลดอัตราภาษี เช่น ภาษีนิติบุคคลที่จำเป็นต้องปรับลดลงมา เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้าง และขยายฐานภาษี เพื่อให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การทำงานที่ผ่านมามีการประสานกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งด้านการคลังไม่ได้ใช้จ่ายเกินตัว และตั้งงบประมาณขาดดุลลดลงในปีงบประมาณ 66 เป็นการส่งสัญญาณว่า การขาดดุลยังมี แต่จะต้องลดขนาดของการขาดดุลลง
นายกฤษฎา จีณะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา จำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้าง เพื่อให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต โดยตลอดระยะเวลา 40 ปีไทยทำงบประมาณขาดดุลมาตลอด ยกเว้น 2 ครั้งที่ทำงบประมาณสมดุล ขณะที่หนี้สาธารณะของไทยก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ยังไม่ถึง 70% ตามกรอบเพดานที่ได้ขยายไว้ ปัจจุบันอยู่ที่ 60% ต่อจีดีพี และเงินคงคลังก็ไม่มีปัญหา ปัจจุบันมีเงินคงคลังต้นงวดที่ 5.8 แสนล้านบาท คาดว่า ปลายงวดจะจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.4 ล้านล้านบาท ทำให้เงินคงคลังปลายงวดใกล้เคียงที่ 5 แสนกว่าล้านบาท