ปกติเดือนธันวาคมของทุกปีแทบจะไม่ค่อยได้ทำงานเท่าไหร่ เนื่องจากเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาวหลายๆ วันเรียกว่านับตั้งแต่กลางเดือนเป็นต้นไป กิจกรรมทุกอย่างเกือบจะนิ่ง นักลงทุนต่างชาติก็ทะยอยกลับบ้าน
แต่ดูเหมือนปีนี้ที่ต้องเผชิญวิบากกรรมจาก วิกฤติโควิด-19 ทำให้เดือนธันวาคมปีนี้ มีเวลาทำงานน้อยลงไปอีก เพราะมีวันหยุดมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้การนำวันหยุดสงกรานต์ที่ปีนี้ต้องเจอกับมาตรการล็อกดาวน์ มาทยอยชดเชยเพิ่ม
นอกเหนือจากจะชดเชยวันสงกรานต์แล้ว เจตนาลึกๆ ของรัฐบาลก็ใช้วันหยุดยาวเป็นเงื่อนไขช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการกระตุ้นให้คนไทยไปท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น หลังจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องซบเซาอย่างหนัก ทยอยปิดกิจการ นักท่องเที่ยวต่างประเทศยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาเที่ยวบ้านเราได้ จึงต้องหันมารณรงค์ให้คนไทยเที่ยวเมืองไทยแทน อย่างน้อยพอจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวหายใจหายคอสะดวกขึ้นมาบ้าง
อันที่จริงมาตรการให้หยุดยาวกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนไปท่องเที่ยว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร หากยังจำกันได้ทำกันมาตั้งแต่ยุครัฐบาลคสช.ที่มี “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ก็เคยทำมาหลายครั้ง ซึ่งเป็นแนวความคิด “ก๊อปปี้” นโยบายรัฐบาลจีนที่ใช้แล้วได้ผล โดยให้ประชาชนได้หยุดยาว เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในช่วงเทศกาลตรุษจีน 10 วันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่อาจจะลืมไปว่า ปัจจัยแวดล้อมของไทยกับจีนนั้น….ต่างกันทุก ๆ ด้าน
ไม่รู้ว่ารัฐบาลเคยประเมินผลกระทบหรือไม่ ว่าการหยุดยาวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มาก-น้อยแค่ไหน คุ้มหรือไม่ ทั้งที่ในทางตรงข้ามกลับส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจอื่น ๆ และคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจนั้นๆ เสียหายไม่น้อย ที่เห็นชัดๆ วันหยุดยาว…ทำให้คนทำงานรายวัน หาเช้ากินค่ำจำนวนมาก ต้อง “ขาดรายได้” เพราะไม่ได้ทำงาน โดยเฉพาะลูกจ้างรายวัน พ่อค้าแม่ขาย…หยุดงานเท่ากับหยุดรายได้ ภาคเอกชน ภาคการผลิต ภาคการขนส่งสินค้า ต้องหยุดชะงักไปหมด
เท่าที่สังเกตและได้พูดคุยกับคนหาเช้ากินค่ำหลายราย ได้รับการบอกเล่าว่า วันหยุดยาวส่งผลกระทบกับธุรกิจรายเล็กรายน้อย พวกหาบเร่ แผงลอย ร้านอาหารที่มีนับหมื่น ๆ รายในกรุงเทพฯ จะเงียบเหงาทันที เพราะคนออกไปเที่ยวต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งก็พากันกลับบ้านต่างจังหวัด พนักงานร้านอาหาร พนักงานบริการ พวกทำงานลูกจ้างรายวันหาเช้ากินค่ำ คาดว่ามีไม่ต่ำกว่าล้านคน จะต้องว่างงาน ทำให้ต้องขาดรายได้
คนเหล่านี้หากินรายวัน รายได้วันหนึ่งเฉลี่ย 300-500 บาท ถ้าหยุดยาว 4 วัน รายได้หายไปอย่างน้อย 1,200-1,500 บาท เงินที่หายไปแต่ละครั้งสำหรับคนเหล่านี้ ที่ต้องเลี้ยงคนทั้งครอบครัว ถือว่าไม่น้อย ปีนี้เราหยุดยาวมาหลายครั้งติดต่อกัน ตั้งแต่โควิด-19 ระบาดใหม่ ๆ จนต้องล็อกดาวน์ ยังมีหยุดชดเชยอีกเป็นระยะ ๆ คนเหล่านี้จะอยู่อย่างไร จะเอาอะไรกิน
แม้กระทั่งโรงงานบางแห่ง เวลามีวันหยุดยาว กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักตามไปด้วย ส่งผลกระทบถึงคำสั่งซื้อที่ส่งให้ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งรัฐบาลประกาศกะทันหัน อาจจะวางแผนการผลิตไม่ทัน หรือถ้าทำงานวันหยุด จะต้องจ่ายโอทีค่าแรงเพิ่มทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นตาม
ในสถานการณ์เศรษฐกิจเปราะบางอย่างทุกวันนี้ ธุรกิจทยอยปิดกันรายวัน การหยุดยาวอาจทำให้บริษัทต่าง ๆ เจ๊งได้ง่ายขึ้น เพราะเมื่องานไม่เดิน ก็ไม่ได้งาน แต่เงินเดือนพนักงานก็ยังต้องจ่ายเต็มจำนวน ยิ่งการประกาศแบบกะทันหัน จะกระทบกับแผนธุรกิจ การประชุมกับลูกค้า การเจรจาธุรกิจที่วางแผนล่วงหน้ามาเป็นเดือน ต้องมาเริ่มกันใหม่
ถ้ารัฐบาลจะกระตุ้นท่องเที่ยวจริง ๆ แทนที่จะประกาศหยุดยาวแบบพร่ำเพรื่อหาเหตุให้คนไปเที่ยว อาจจะใช้วิธีรณรงค์หรือมีแคมเปญจูงใจให้เศรษฐีมีเงิน ไฮโซ ไฮซ้อ ทั้งหลายที่เคยเที่ยวต่างประเทศ ตอนนี้ไปเที่ยวไม่ได้ ให้หันมาเที่ยวในประเทศในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์กันมาก ๆ กระทรวงท่องเที่ยวฯ ควรจะมาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ ให้จูงใจบรรดาเศรษฐีเหล่านี้ไปเที่ยว
ที่ผ่านมาพวกเศรษฐีไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกดีกว่า แม้ราคาแพงกว่าเที่ยวภูเก็ตหรือสมุย แต่คุ้มค่า ตรงนี้ต้องแก้ เป็นวิธีกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบมีคุณภาพ แทนที่จะหยุดยาวให้ชาวบ้านไปเที่ยว ในยามเศรษฐกิจที่ไม่รู้อนาคตอย่างนี้ คนส่วนใหญ่ก็จะเก็บเงินไว้ใช้จ่ายดีกว่า จะมีแต่ชาวบ้านไปเที่ยวใกล้ ๆ เม็ดเงินที่จับจ่ายใช้สอยก็ไม่ได้สะพัดมากมายอะไร
มาตรการที่ทำแล้วได้อย่างเสียอย่าง เช่น มาตรการหยุดยาวกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรจะต้องทบทวนดูข้อดีข้อเสียกันอย่างจริงจังเสียที ขืนปล่อยไปอาจจะเสียมากกว่าได้
………………………………
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์ข้างทาง
โดย “ทวี มีเงิน”