วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSพระราชศรัทธาทรงมีต่อ..“คณะสงฆ์”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

พระราชศรัทธาทรงมีต่อ..“คณะสงฆ์”

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”

นี่คือ พระราชดำรัสประกาศเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตอนขึ้นพระบรมราชาภิเษก นับตั้งแต่บัดนั้นมาหากชาวพุทธติดตามและสังเกตพระราชกรณียวัตรหรือ พระราชกรณียกิจ จะทราบและเห็นได้ว่าพระองค์ก็ทรงยึด “พระราชดำรัส” นี้เป็นแนวทางในการทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์มาตลอดและต่อเนื่อง

ก่อนเกิดสถานการณ์โควิดพวกเรา “คนวัด” เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้านิมนต์ให้พระภิกษุทรงความรู้ไปเทศนาสั่งสอน “ข้าราชบริพาร” ทุกวันธัมมัสวนะ

ในขณะเดียวกันแม้แต่พระองค์เองก็ทรงโปรดให้คณะสงฆ์ในพระอารามหลวงต่าง ๆ เข้าไปเจริญพระพุทธมนต์ในวังแบบใกล้ชิดทุกค่ำคืน โดยพระองค์ทรงร่วมเจริญพระพุทธมนต์ด้วยทุก “วันพระ” เช่นเดียวกัน

เท่านั้นยังไม่พอ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงใฝ่ธรรม ทรงรู้ว่า “วิปัสสนา” ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าคือ “เพชรน้ำเอก” ที่จะทำให้มวลมนุษย์หลุดพ้นจาก “ความทุกข์” พระองค์จึงทรงนิมนต์ “พระวิปัสสนาจารย์” มาร่วม “สนทนาธรรม” มาร่วมแสดงธรรมให้พระองค์อยู่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงมีพระราชศรัทธาใน “บวรพระพุทธศาสนา” ถวายพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างวัด บูรณะวัด พระอารามต่าง ๆ เช่น พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างวัดป่าพุทธชินวงศาราม จ.พะเยา อันนี้เฉพาะที่เป็นข่าวและมีพระสงฆ์องค์เจ้าท่านเปิดเผยออกมาเท่านั้น

ในด้านการศึกษาพระบาลี ซึ่งเป็น “รากฐาน” สำคัญให้เข้าถึงพระไตรปิฎกและทำให้ “สิ่งดี” ที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกไม่ผิดเพี้ยนตามความเชื่อสาย “เถรวาท” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ก็ทรงมี “พระราชศรัทธา” ทรงพระบรมราชูปถัมภ์ “สอบบาลี” ทุกวัด ซ้ำสำนักเรียนบาลีที่มีพระภิกษุสามเณรศึกษาอยู่มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัดโมลี, วัดสามพระยา พระองค์ก็ทรงถวาย “ภัตตาหาร” ทุกวัน

แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายทั้งอาหารเช้าและเพล ซึ่งมีพระนิสิตทั้งไทยและนานาชาติอยู่ประจำกว่า 500 รูป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระบรมราชูปถัมภ์ไว้ สิ่งเหล่านี้คือ “พระราชศรัทธา” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็น “พุทธศาสนูปถัมภก”

นอกจากนี้ทรงมีพระราชปุจฉากับคณะสงฆ์ว่า “จะส่งเสริมการเรียนการสอนพระบาลีอย่างไร..ให้เข้าถึงพระไตรปิฏก” พร้อมกันนี้สมเด็จพระสังฆราชขอให้มหาเถรสมาคมทุกรูปร่วมกันถวาย “วิสัชนา” เพื่อเป็นแนวทางให้พระองค์ได้ทรงถวายความพระบรมราชูปถัมภ์ให้กับคณะสงฆ์ต่อไป

ล่าสุดมีปรากฎการณ์ที่สร้าง “ความปลื้มปิติ” แก่พวกเราชาวพุทธก็คือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้า พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ “จำนวน 100 ล้าน” เพื่อสมทบทุนสร้าง มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย

พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวิทยาลัยบาลีเถรวาทเป็น “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย”  ซึ่งเป็นพระราชนามของพระองค์อีกด้วย

การเกิดขึ้นของมหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย คณะสงฆ์และชาวพุทธต้องยกย่องความดีและความตั้งใจของบุคคลอย่างน้อย 3 ท่าน คือ พระเทพสุวรรณเมธี, หลวงพ่อพระมหาบรรจบ ขนฺติโก และ รศ.ดร. เวทย์ บรรณกรกุล บุคคลทั้ง 3 ท่านคือบุคคลในประวัติศาสตร์ซึ่งต่อไปจะเป็น “ตำนาน” ผู้วางรากฐานสำคัญให้เกิด “มหาวชิราลงกรณบาลีเถรวาทราชวิทยาลัย”

……………………………..

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img