โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) เผยผลการถอดบทเรียนข้อมูลนโยบายอยู่กับโควิด-19 จากทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยสามารถเรียนรู้เพื่อชั่งน้ำหนักและใช้ประกอบการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ในอนาคต
จากข้อมูล พบว่าขณะนี้หลายประเทศผ่อนคลายจนถึงยกเลิกมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ทั้งหมด ซึ่งมีทั้งผลดีและผลเสีย หากมีการผ่อนคลายมาตรการคัดกรองก็จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวัง พร้อมกันนั้นยังต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารถึงความจำเป็นของการรับวัคซีนรวมถึงการเตรียมความพร้อมระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับโรคติดต่อที่ไม่ได้มาจากโควิด-19 ด้วย
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ HITAP พบว่า หลายประเทศเริ่มยกเลิกมาตรการป้องกัน คัดกรองและรักษาโควิด-19 แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่าการระบาดของโควิด-19 กำลังยุติลง โดยในจำนวน 80 ประเทศที่นำข้อมูลมาวิเคราะห์ มี 39 ประเทศหรือราวครึ่งหนึ่ง ไม่บังคับเว้นระยะห่างทางสังคมหรือสวมหน้ากากอนามัย มี 18 ประเทศหรือราว 1 ใน 5 ไม่มีนโยบายการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 โดยส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป บางประเทศในแอฟริกาและอินเดีย มี 7 ประเทศ ไม่มีนโยบายป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งการตรวจหาการติดเชื้อโควิด-19 และไม่กักผู้ติดเชื้ออีกต่อไป ได้แก่ เดนมาร์ก, เยอรมนี, กรีนแลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์, สวีเดน และสหราชอาณาจักร มี 3 ประเทศในเอเชีย ไม่มีนโยบายการตรวจโควิด-19 แล้วแต่ยังคงกักตัวหากพบว่าติดเชื้อ ได้แก่ อินเดีย, สิงคโปร์ และมัลดีฟส์ ประเทศที่ยกเลิกมาตรการไปแล้วส่วนใหญ่อยู่ในทวีปยุโรป ซึ่งเคยเกิดการระบาดใหญ่มาก่อน รวมถึงได้รับวัคซีนก่อนพื้นที่อื่น ๆ มีอัตราการรับวัคซีนสูงโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจมากรวมทั้งไม่สามารถแบกรับภาระค่าตรวจคัดกรองและกักตัวเมื่อติดเชื้อโควิด-19 ได้
ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่เริ่มผ่อนคลายมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมและยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัยในที่แจ้ง การผ่อนคลายนโยบายมักทำเป็นชุด เว้นระยะห่างกันประมาณ 2 – 8 สัปดาห์เพื่อประเมินผลกระทบก่อนที่จะเริ่มนโยบายผ่อนคลายชุดใหม่ ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ไม่ยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งแตกต่างจากประเทศในทวีปอื่น ๆ ที่มักยกเลิกมาตรการนี้ก่อน
ในส่วนของผลลัพธ์หลังจากการยกเลิกมาตรการต่าง ๆ ในหลายประเทศ งานวิจัยพบข้อดี-ข้อเสียดังต่อไปนี้
ข้อดี
1.กิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจกลับมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเมืองหรือเขตอุตสาหกรรม
2.ลดภาระระบบสุขภาพในการคัดกรองและรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย
3.ลดค่าใช้จ่ายในการคัดกรองและรักษาที่ไม่จำเป็น หลายประเทศเลิกอุดหนุนค่าตรวจและค่าชดเชยการกักตัว
4.ลดความไม่เสมอภาคสำหรับประชาชนในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้จนเกือบไม่ต้องตรวจคัดกรองหรือกักตัวอีกต่อไป
ข้อเสีย
1.อัตราการยอมรับวัคซีนลดลง เนื่องจากความมั่นใจว่าโรคโควิด-19 มีความรุนแรงน้อยลง บางประเทศจึงมีนโยบายเสริมเพื่อให้ประชาชนมีแรงจูงใจในการรับวัคซีน เช่น ประเทศสิงคโปร์ให้กักตัว 7 วันหากพบการติดเชื้อในคนที่รับวัคซีนครบหรือกักตัว 14 วันในคนที่ไม่ได้รับวัคซีน
2.เกิดความต้องการบริการสุขภาพมากขึ้น จากการระบาดของโรคทางเดินหายใจและทางเดินอาหารจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 โดยเฉพาะในเด็กเล็ก และจากผู้ป่วยในโรคที่ไม่เร่งด่วนและถูกเลื่อนบริการออกมาเพราะโควิด-19
3.ขาดข้อมูลการติดเชื้อในประเทศ เพราะหลายประเทศยกเลิกการตรวจหาการติดเชื้อและการเฝ้าระวังในชุมชน ทำให้อาจเกิดการระบาดใหญ่โดยไม่มีสัญญาณเตือนได้
ผลสรุปจากข้อมูลทั้งหมดทีมวิจัยได้จัดทำเป็น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 ข้อ ได้แก่
1.หากประเทศไทยจะผ่อนคลายมาตรการควรทำอย่างมีกลยุทธ์ โดยผ่อนคลายมาตรการเป็นช่วง ๆ มีระยะเวลาที่ประเมินผลกระทบเชิงลบได้ และอาจพิจารณาเริ่มเป็นบางพื้นที่ซึ่งมีอัตราการรับวัคซีนสูงในกลุ่มเสี่ยง เช่น พื้นที่ที่ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนมากกว่าร้อยละ 90 เป็นต้น
2.ประเทศไทยอาจไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการยกเลิกการสวมหน้ากากอนามัย เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่มาตรการนี้ช่วยป้องกันโรคโควิด-19 และโรคติดต่ออื่น ๆ ได้
3.หากมีการยกเลิกมาตรการคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องเพิ่มระดับของการเฝ้าระวังการระบาดในระดับประชากรและการเฝ้าระวังเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าหากมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่
4.ให้ความสำคัญกับการสื่อสารและหามาตรการเสริม ที่ทำให้ประชาชนยังตระหนักถึงความจำเป็นของการรับวัคซีนโควิด-19
5.เตรียมความพร้อมของระบบสุขภาพที่ต้องรับมือกับโรคติดต่อที่ไม่ใด้เกิดจากโควิด-19 หลังจากผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 และความต้องการบริการสุขภาพจากผู้ป่วยโรคอื่น ๆ
ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเพื่อจัดทำชุดข้อเสนอเชิงนโยบายและขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขยุคใหม่ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 (Post Covid Health System) สนับสนุนโดย สำนักงานบริหารการวิจัยและนวัตกรรมสาธารณาสุข (สบวส.) สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ในการศึกษานี้ใช้การทบทวนวรรณกรรมจากฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายประเทศทั่วโลกแล้วนำมาสังเคราะห์เพื่อตอบคำถามผู้กำหนดนโยบายภายใต้คณะกรรมการประมวลสถานการณ์ COVID-19 กระทรวงสาธารณสุข (MOPH Intelligence Unit หรือ MIU)