“สาธิต” เผยกมธ.กฎหมายลูก 2 ฉบับเพิ่มเวลาประชุม หลังหยุดยาวหลายวัน เร่งเสร็จทันก่อนเปิดประชุมสภา 22 พ.ค. ลั่นเครื่องมือต้องพร้อมรับอุบัติเหตุ-เดตล็อคทางการเมือง หวั่นออกพ.ร.ก.คนไม่ยอมรับ เชื่อฝ่ายค้านยื่นซักฟอกไม่ทำกฎหมายลูกสะดุด ชี้ปม “ไพรมารีโหวต” เขียนแล้วต้องทำได้จริง
วันที่ 20 เม.ย. 65 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ… ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ที่ประชุมขยายช่วงเวลาการประชุม เพื่อชดเชยวันหยุดช่วงเทศสงกรานต์ เพราะเป็นข้อตกลงของกมธ.วิสามัญฯว่าจะทำกฎหมายให้แล้วเสร็จก่อนเปิดประชุมสภาสมัยสามัญช่วงเดือนพ.ค. จึงได้นัดประชุมทดแทน เนื่องจากเดือนเม.ย.นี้มีวันหยุดหลายวัน และจะมีวันหยุดอีกครั้งในช่วงต้นเดือนพ.ค. ทั้งนี้หลายคนไม่อยากเพิ่มวันประชุม จึงมีมติให้ประชุมวันเดิมคือวันพุธและวันพฤหัสบดี แต่ขยายเวลาการประชุมแทน จากเดิมเวลา 09.30 น.-13.30 น. เป็น 09.30 น.- 16.30 น. โดยจะดูเนื้อหาถ้าพิจารณาไปได้เร็ว สัปดาห์หน้าก็อาจจะกลับไปประชุมในช่วงเวลาเดิม
เมื่อถามว่า จะไม่มีการขยายเวลาเพิ่มไปจากนี้แล้วใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเพิ่มวันแต่มีการเพิ่มเวลา ในส่วนของกฎหมายเลือกตั้งส.ส.มี 2 ประเด็นที่ต้องถกเถียงกัน ถ้า 2 ประเด็นนี้จบได้ง่าย คิดว่าน่าจะเสร็จทัน แต่ถ้ามีการอภิปรายหรือมีความเห็นแตกต่างก็จะต้องเพิ่มเวลา แต่เบื้องต้นอาจจะยังไม่เพิ่มวัน โดยมีเป้าหมายให้เสร็จทันวันที่ 22 พ.ค.
เมื่อถามว่า ประเด็นไพรมารีโหวตจำเป็นต้องเพิ่มเวลาหรือไม่ เพราะต่างฝ่ายยังเห็นต่าง นายสาธิต กล่าวว่า เป็นอีกประเด็นหนึ่งในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในแง่ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจะพูดถึงการทำไพรมารีโหวตอย่างไร พรรคการเมืองก็เห็นอุปสรรคว่าปัญหาในการทำไพรมารีโหวตอาจยังไม่สะท้อนความเป็นจริง ในส่วนของหลักการคืออยากให้ประชาชนและสมาชิกพรรคในแต่ละเขตเลือกตั้งมีส่วนแสดงความคิดเห็น ซึ่งอาจจะจบตรงกลางก็ได้ว่าให้มีส่วนร่วม แต่จะด้วยวิธีไหน เช่น ไม่ถึงกับให้ลงมติ แต่ให้รับฟังความคิดเห็นตามขั้นตอนทางกฎหมาย ทั้งนี้ยังเป็นความเห็นส่วนตัว ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมกมธ.วิสามัญฯว่าจะทำอย่างไร แต่สุดท้ายคิดว่าพอทุกอย่างไหลลื่นไปได้คงไม่มีอะไรที่จะต้องใช้เวลานานมากนัก ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็จะนำไปสู่การลงมติอยู่ดี
เมื่อถามว่า การทำไพรมารีโหวตบางฝ่ายเสนอให้ยกเลิกเป็นรูปแบบการหยั่งเสียง นายสาธิต กล่าวว่า มี 2-3 เหตุผล บางเหตุผลกล่าวว่าสมาชิกพรรคหลักร้อยจะมาแสดงออกถึงความต้องการของการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งในแต่ละเขตมีประชาชนแสนกว่าคนได้หรือไม่อย่างไร หรือบางคนคิดว่ายังจำเป็นต้องคงไว้ เนื่องจากต้องล้อไปตามรัฐธรรมนูญ แต่ตนคิดว่าเราเขียนกฎหมายแล้วต้องทำให้ได้จริง ไม่เช่นนั้นจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้น ถ้าทำกฎหมายแล้วไม่สามารถให้ผู้ปฏิบัติไปปฏิบัติได้ก็จะสะท้อนว่าประเทศเราอาจจะเป็นปัญหา เรื่องที่กฎหมายเขียนอย่างหนึ่งแต่การบังคับใช้เป็นอีกอย่างหนึ่ง ทำให้ประสิทธิภาพการบังคับใช้ หรืออาจทำให้ทุกนโยบายเกิดปัญหาต่อไปได้
เมื่อถามว่า ในการพิจารณาของกมธ.วิสามัญฯตอนนี้ ท่าทีของส.ว.เป็นอย่างไรบ้างที่จะนำไปสู่การลงมติวาระ 2-3 นายสาธิต กล่าวว่า เป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งแต่ละคนมีความคิดเห็นในการพูดกันอย่างตรงไปตรงมา แต่สุดท้ายการลงมติก็เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ จะเห็นได้ว่าฝั่งส.ว.มีความเป็นเอกภาพในการลงมติที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ในส่วนของพรรคการเมืองก็อาจมีความเห็นที่แตกต่าง ในส่วนของเรื่องอื่นก็จะดูต่อไปว่าจะมีการลงมติเป็นอย่างไร หวังว่ากมธ.วิสามัญจะลงมติในเชิงความเห็นส่วนตัวเป็นหลัก และรับฟังความคิดเห็น พร้อมลงมติในส่วนที่น่าจะเป็นทิศทางในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยใช้การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีกติกาที่ออกแบบได้สมบูรณ์และทำได้จริงที่สุด
เมื่อถามว่า มีส.ว.บางคนประเมินว่าทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาฯ ทางฝ่ายค้านจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะทำให้การพิจารณากฎหมายลูกสะดุดหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้เสร็จภายใน 180 วัน ที่เราตั้งเป้าให้เสร็จเร็วก็เพื่อให้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะไม่เกิดเดดล็อกในการแก้รัฐธรรมนูญไปแล้ว และมาออกกฎหมายลูกเพื่อปฏิบัติได้จริงในกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องออกกฎหมายลูกให้ทัน สมมติว่ามีปัญหาเกิดขึ้นในเสียงในสภาฯ กฎหมายนี้จะเป็นสิ่งสำคัญในการนำไปใช้ไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งเป็นหนึ่งในทางออกของการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี
“ดังนั้นตัวเครื่องมือจะต้องพร้อม เพื่อรองรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เพราะถ้าเครื่องมือไม่พร้อมและเกิดสถานการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุก็จะทำให้เกิดเดดล็อกที่ไม่สามารถเดินหน้าไปได้ หากต้องไปออกพ.ร.ก.ก็อาจจะนำไปสู่การไม่ยอมรับของคนทุกฝ่าย”นายสาธิต กล่าว
เมื่อถามว่า ประเมินแล้วจะไม่ถึงขั้นเดดล็อกใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ไม่มีใครตอบได้ แต่เข้าใจว่ารัฐบาลก็คงจะบริหารจัดการเสียงได้ตามที่เดินหน้ามา