คลังรับลูกนายกฯ เตรียมหาแหล่งเงินกู้เพิ่ม 1.3 ล้านล้านบาท ย้ำหนี้สาธารณะอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไม่เกิน 70% เผยโครงการคนละครึ่งเฟส 5 มีผู้ใช้สิทธิคนละครึ่ง 26 ล้านคน หากเติมเงินคนละ 1,000 บาท รัฐต้องใช้เงินสบทบ 26,000 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกรณีนายกฯสั่งเตรียมหาแหล่งกู้เงินเพิ่มเติมกรณีมีความจำเป็นว่า ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 คาดการณ์ว่า เมื่อถึงสิ้นปีงบเดือนกันยายน 2565 จะมีหนี้สาธารณะอยู่ประมาณ 62% ของจีดีพี ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่กำหนดไม่เกิน 70% ดังนั้นภายในปีนี้ หากจีดีพีของประเทศยังมีมูลค่าอยู่ที่ระดับ 16.33 ล้านล้านบาท และรัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เพิ่ม ยังมีพื้นที่กู้เพิ่มได้อีก 1.3 ล้านล้านบาท ถึงจะเต็มเพดานที่ 70% อย่างไรก็ตาม แม้จะมีพื้นที่ให้กู้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องกู้เต็มเพดาน ต้องกู้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และดูความเหมาะสม แหล่งเงินงบประมาณอื่น รวมถึงต้องไม่สร้างภาระให้ฐานะการคลังของประเทศในระยะยาว
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีพื้นที่ทางการคลังให้สามารถกู้เงินได้ อย่างไรก็ดี ในการกู้เงินนั้น ต้องตรากฎหมายพิเศษมารองรับและต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ต้องมีเหตุผล ความจำเป็น เร่งด่วน รวมทั้งต้องกำหนดวัตถุประสงค์การใช้เงินที่ชัดเจนด้วย
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า ปัจจุบัน พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แบ่งใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข 1.1 แสนล้านบาท ใช้เยียวยาช่วยเหลือประชาชนจากโควิด 2.2 แสน ล้านบาท และใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 1.7 แสนล้านบาท ปัจจุบันเหลือเงินเพียง 7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ดังนั้น หากจะนำไปใช้ในโครงการใดต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หรืออาจหางบจากแหล่งอื่นมาใช้ เช่น งบกลาง หรือเงินทุนสำรองจ่ายตาม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ ที่ให้อำนาจ ครม.อนุมัติใช้เงินได้ 5 หมื่นล้านบาท ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ส่วนโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ยังไม่มีการยืนยันจากกระทรวงการคลัง แต่หากดำเนินการต่อจริงๆ ต้องใช้งบนับหมื่นล้านบาท ทั้งนี้ มีผู้ใช้สิทธิคนละครึ่ง 26 ล้านคน หากเติมเงินคนละ 1,000 บาท รัฐต้องใช้เงินสบทบ 26,000 ล้านบาท หากให้คนละ 1,200 บาท รัฐต้องใช้เงินสบทบ 31,200 ล้านบาท และถ้าให้ 1,500 บาท รัฐต้องใช้เงินสบทบ 39,000 ล้านบาท