วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“ซูเปอร์โพล”ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่นิ่ง “กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ”ตัวแปรสำคัญ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ซูเปอร์โพล”ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ไม่นิ่ง “กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจ”ตัวแปรสำคัญ

ซูเปอร์โพล” เผยกลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจเพิ่มขึ้น ขณะที่คนตั้งใจจะเลือก “ชัชชาติ” และ “สุชัชวีร์” ลดลง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ (New Voters) กับ กลุ่มคนเคยเลือก ในความต้องการเปลี่ยนแปลง กทม.ให้ดีขึ้น กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครโดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,506 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 21 – 22 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 23.0 เป็นกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ ในขณะที่ ร้อยละ 77.0 เป็น กลุ่มคนที่เคยเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. มาแล้ว

ที่น่าพิจารณาคือ สิ่งที่ต้องการเห็นผู้สมัคร ทำให้ กทม. เปลี่ยนแปลงดีขึ้น จึงตั้งใจจะไปใช้สิทธิ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.2 ระบุ ต้องการเห็นผู้สมัครทำถนนให้เรียบ ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ น้ำไม่ท่วมขัง รองลงมาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุ ความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทาง ทำให้คน กทม. เดินทางได้สะดวก รวดเร็ว รถไม่ติดและทุกคนมีความปลอดภัยทางถนน ร้อยละ 79.2 ระบุ ทำทางเท้าให้น่าเดิน ไม่เป็นหลุมเป็นบ่อ ปลอดภัยบนทางเท้า ร้อยละ 78.9 ระบุ การศึกษา ร้อยละ 78.9 เช่นกันระบุ บริหารจัดการขยะ และ น้ำท่วมขังในชุมชน ร้อยละ 78.9 ระบุ  สุขอนามัย ร้านค้าต่าง ๆ ร้อยละ 77.9 ระบุ ส่งเสริมพัฒนา อาชีพ การมีงานทำมั่นคง ร้อยละ 75.2 ระบุ เพิ่มต้นไม้ พื้นที่สีเขียว ร้อยละ 75.1 ระบุ ทำลำคลองต่าง ๆ ให้สะอาดใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ร้อยละ 74.6 ระบุ ทำกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางความเจริญ นานาชาติ ในทุกสิ่ง ตามลำดับ

นพดล กรรณิกา

ที่น่าสนใจคือ ความตั้งใจจะเลือกผู้ว่า กทม. ของ คนสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ กับ กลุ่มคนเคยเลือก พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ ส่วนใหญ่ หรือเกือบร้อยละ 60 คือร้อยละ 58.7 ยังไม่ตัดสินใจ เพราะรอใกล้วันเลือกตั้ง (โค้งสุดท้าย) และกำลังสนใจเรื่องปัญหาปากท้องและเรื่องอื่น ๆ มากกว่า ตอนนี้ติดตามข่าวสารและข้อมูลอยู่ ในขณะที่ กลุ่มคนเคยเลือก จำนวนมากเช่นกัน หรือ เกินกว่า 1 ใน 3 คือร้อยละ 37.4 ยังไม่ตัดสินใจ

เมื่อนำผลสำรวจของคนสองกลุ่มมาเปรียบเทียบกันพบว่า ร้อยละ 19.9 ของกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ มากกว่ากลุ่มคนเคยเลือกที่มีอยู่ร้อยละ 17.0 จะเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในขณะที่ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตามมาอันดับสอง มีกลุ่มคนเคยเลือกร้อยละ 12.8 มากกว่า กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ที่จะเลือกนายสุชัชวีร์ฯ อยู่ร้อยละ 8.4

ที่น่าสนใจในผู้สมัครสองคนคือ คนแรกเป็นอดีตผู้ว่า กทม. คือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง และ นายสกลธี ภัททิยกุล โดยพบว่า นายสกลธี ภัททิยกุล ได้กลุ่มคนเคยเลือกผู้ว่า กทม. สูงเกือบเท่า นายสุชัชวีร์ คือร้อยละ 12.7 มากกว่า กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ร้อยละ 4.3 ในขณะที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ได้จากกลุ่มคนเคยเลือก ผู้ว่า กทม. อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 10 คือร้อยละ 8.5 ในขณะที่ ได้กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ ร้อยละ 4.9

นอกจากนี้ ผู้สมัครที่น่าจับตามองอีกท่านหนึ่งคือ นาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ได้รับการสนับสนุนจากคนเคยเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. อยู่ที่ร้อยละ 6.6 สูงกว่าผลสำรวจครั้งก่อนและได้รับจากกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ที่มีอยู่ร้อยละ 2.3 ในขณะที่ ผู้สมัครท่านอื่น ๆ เช่น นางสาว รสนา โตสิตระกูล และ น.ต.ศิธา ทิวารี เป็นต้นได้กลุ่มคนเคยเลือกตั้ง ผู้ว่า กทม. ร้อยละ 5.0 และจากกลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ร้อยละ 1.5 ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มกลุ่มคนตั้งใจจะเลือก ผู้ว่า กทม. ครั้งแรก หลังลงสมัครอย่างเป็นทางการ จนถึง ครั้งที่ สาม ที่ประชาชนมองปัญหาเดิม ๆ ของ กทม. และข่าวการเมืองช่วงสงกรานต์ เช่น ข่าวแบ่งเค้กตำแหน่ง รองผู้ว่า กทม. กับ แกนนำพรรคการเมือง ข่าวแกนนำพรรคการเมืองสัมพันธ์กับ คนแดนไกล รวมกับ นโยบายการหาเสียงแบบ เดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ ประชาชนผิดหวังซ้ำซากยาวนานต่อ ผู้ว่า กทม. ในอดีต เป็นต้น อาจจะส่งผลทำให้ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนยังไม่ตัดสินใจเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28.7 ในครั้งที่สอง มาอยู่ที่ร้อยละ 42.3 ในครั้งที่สาม เพราะยังไม่รู้จะเลือกใครดี ยังมีข้อมูลไม่มากพอ เบื่อการเมืองเดิม ๆ ไม่มีอะไรใหม่ และบางส่วนจะตัดสินใจช่วงใกล้เลือกตั้งหรือโค้งสุดท้าย

ในขณะที่ ผลสำรวจครั้งนี้ มีลุ้น มีเสียว เพราะ คนตั้งใจจะเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ลดลงจากร้อยละ 24.5 ในครั้งที่สอง มาอยู่ที่ร้อยละ17.7 ในครั้งล่าสุด นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ก็ลดลง อาจเป็นผลจาก ปริญญ์เอฟเฟค จากร้อยละ 13.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 11.8 แต่ที่มีลุ้นคือ นายสกลธี ภัททิยกุล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.8

ที่น่าพิจารณาคือ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ลดลงจากร้อยละ 9.8 มาอยู่ที่ ร้อยละ 7.7 เพราะคนกรุงเทพมหานคร เห็นว่าเคยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาหลายปีแล้วปัญหา กทม. ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่น่าจับตามองคือ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่ยังรักษาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนตั้งใจจะเลือกที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.5 ในครั้งแรก มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในครั้งสองและร้อยละ 5.6 ในครั้งล่าสุด ขณะที่ผู้สมัครอื่น ๆ มีแนวโน้มลดลงไปอยู่ในกลุ่มคนไม่ตัดสินใจเป็นจำนวนมาก จึงขึ้นอยู่กับการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคนที่จะสามารถตอบโจทย์ตรงใจของประชาชนคน กทม. ได้มากน้อยเพียงไร

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ (New Voters) กับกลุ่มคนเคยเลือก ผู้ว่า กทม. มีความตั้งใจจะเลือกผู้สมัครแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ นายสกลธี มีลุ้น คู่ไปกับนายวิโรจน์ฯ ที่มีคะแนนเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คนอื่น ๆ มีลดลงและคงที่ เพราะกลุ่มคน กทม. ในผลโพลนี้กลับไปรวมตัวกันที่ฐานเดิมคือ ยังไม่ตัดสินใจ

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า เมื่อวิเคราะห์เหตุปัจจัยใดที่มีผลต่อการเปลี่ยนใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่ หรือ นิวโหวตเตอร์ กับ กลุ่มคนเคยเลือก ผู้ว่า กทม. พบว่า “ภาพจำ” ของ คน กทม. มีผล ทั้งปัญหาเดิม ๆ ซ้ำซาก เช่น คุณภาพชีวิตของ คน กทม. ที่ยังย่ำแย่เหมือนเดิม ปัญหาจราจร การเดินทางของคน กทม. ความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน และบนทางเท้า ปัญหาการศึกษา เป็นต้น

“นอกจากนี้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ยังมีข่าวการเมืองสำคัญ ๆ บางอย่าง ได้แก่ ข่าวแบ่งเค้กตำแหน่ง รองผู้ว่า กทม. ให้กับนักการเมืองของพรรคการเมืองที่ถูกมองว่าหนุนหลังเชื่อมโยงกับผู้สมัคร ข่าวแกนนำพรรคการเมืองเคลื่อนไหวเกี่ยวโยงกับคนแดนไกล ที่อาจจะนำไปสู่ ภาพจำ แห่งความขัดแย้งในหมู่ประชาชนแบบเดิม ๆ และอื่น ๆ จึงน่าจะเป็นข้อสมมติฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไมผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าใหม่และหน้าเก่า จึงกลับไปอยู่ในฐานที่มั่นเดิมคือ ยังไม่ตัดสินใจ และทำไม ผู้สมัครฯ บางคนมีคะแนนเพิ่มขึ้นแต่บางคนลดลง” ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img