วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSเปิดดีลลับ“ฝ่ายค้าน-รัฐบาล”ขอเอี่ยวงบ ทำ“ศึกซักฟอกกร่อย”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

เปิดดีลลับ“ฝ่ายค้าน-รัฐบาล”ขอเอี่ยวงบ ทำ“ศึกซักฟอกกร่อย”

ทำเอาคอการเมืองฮือฮาไปตามๆ กัน หลังมีข่าวในช่วงหยุดยาว ในห้วงเทศกาลวันสงกรานต์ ระหว่างที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางไปตรวจสุขภาพที่ต่างประเทศ พี่ใหญ่แห่ง “3 ป.” มีโอกาสพูดคุยกับ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือนามจริง “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯผู้นำตัวจริง “พรรคเพื่อไทย” (พท.)

จนมีการตีความกันว่า “ดีลลับ” ครั้งนี้ อาจหมายถึงความร่วมมือทางการเมืองในอนาคต เพราะต่อให้พรรคแกนนำฝ่ายค้าน “แลนด์สไลด์” เป็นตามเป้าหมายที่ “คนแดนไกล” วางไว้ แต่ถ้าต้องการให้การทำงานรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ก็ต้องมีพรรคการเมือง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับ สภาสูงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้ ซึ่งหนีไม่พ้นพรรคพปชร.

ใครตามการเมืองบ้านเรา คงมองออกการเลือกตั้งสนามใหญ่ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต “ทักษิณ” คงไม่ยอมให้พรรคพท.อยู่ใน สภาพฝ่ายค้านแน่ๆ หลังห่างหายจากการยึดครองอำนาจรัฐมาเกือบ 8 ปีเต็ม จึงมีข่าว “นายใหญ่แห่งดูไบ” ส่งสัญญาณชัดว่า เลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเป็นห้วงเวลาไหน พรรคพท.จะแพ้ไม่ได้ 

ก่อนหน้านั้นเคยมีข่าว การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านพ้นมา “คนแดนไกล” ต่อสายมาถึง “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ขอให้มารวมกับพรรคพท.จัดตั้งรัฐบาล โดยจะยกตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลให้ “อนุทิน” แต่ไม่มีสัญญาณตอบรับเกิดขึ้น  

แม้กระทั่งการต่อสายไปถึง “หัวหน้าพรรคพปชร.” ขอจับมือเป็นพันธมิตรในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต่อรองถึงขึ้นมอบอำนาจให้ “บิ๊กป้อม” เลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ส่วนพรรคพท.จะทำหน้าที่ ดูแลกระทรวงเศรษฐกิจเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนักการเมืองบ้านเรา จะเป็นใครก็ต้องดิ้นรน เข้ามายึดครองอำนาจรัฐ เพียงแต่ฝ่ายตรงข้ามก็ต้องเคลื่อนไหวต่อต้าน ยิ่งมีคนจำนวนไม่ใช่น้อย ยังหวาดกลัว “ระบอบทักษิณ” ฝันที่คิดไว้ แผนที่สร้างขึ้น อาจไม่เป็นไปตามเป้าประสงค์

นายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ

ดังนั้นจึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อเกิดกระแสข่าว ดีลลับ” หลายคนยิ่งให้ความสนใจ มิหนำซ้ำ “นิโรธ สุนทรเลขา” ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล  ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นที่ได้สอบถาม “พล.อ.ประวิตร” ว่าได้เจอกับ “ทักษิณ” ที่ประเทศอังกฤษหรือไม่ ทำให้ พล.อ.ประวิตรนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ก่อนตอบว่า เขาฝากความคิดถึงให้ตนด้วย ก่อนจะถามตนกลับว่า เป็นผู้สื่อข่าวสำนักไหน เพราะถามเหมือนเป็นนักข่าวนั้น

แม้ต่อมา “ประธานวิปรัฐบาล” จะออกมาชี้แจงว่า “พล.อ.ประวิตรท่านอำผมเล่น ไม่ได้ไปพบกันจริงๆ เป็นการพูดหยอกล้อกันเท่านั้น” ส่วน “บิ๊กป้อม” ก็ออกมายืนยันกับสื่อว่า “ไม่ได้เจอนายทักษิณมาตั้งแต่ปี 2548 ผ่านมากี่ปีแล้ว แล้วจะไปพบเรื่องอะไร ไม่มีเรื่องอะไรต้องไปพบ” แต่ก็ยังไม่ได้ลบข้อสงสัยของใครอีกหลายคน

แต่หลายคนยังไม่ลืม การอภิปรายไว้วางใจรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ครั้งที่ผ่านมา มีแกนนำพปชร.บางคน “ก่อกบฏ” จนนำมาสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” และ “น.ส.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และในที่สุด “ผู้กองคนดัง” ต้องนำส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลจำนวนหนึ่ง ไปสังกัด พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) 

แต่เมื่อจับท่าทีของพรรคฝ่ายค้าน ถึงการยื่นซักฟอกรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 ก็เริ่มเห็นสัญญานแปร่งๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แกนนำพรรคพท. และสมาชิกพรรคฝ่ายค้านหลายคน ออกมาคุยโม้โอ่อวดยืนยันผ่านสื่อว่า เมื่อเปิดสภาฯสมัยสามัญในวันที่ 22 พ.ค.65 จะยื่นอภิรายไม่ไว้วางใจ ทันที เพราะมีข้อมูลพร้อมแล้ว มั่นใจว่า จะทำให้หัวหน้ารัฐบาลต้องจนมุมกลางสภาฯ ไม่สามารถไปต่อในฐานะหัวหน้ารัฐบาลได้

แต่ล่าสุดพรรคร่วมฝ่ายค้าน กลับออกมาแถลงว่า จะยื่นซักฟอหรัฐบาล หลังจากการแก้ไขกฎหมายลูกผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาฯ

หลัง “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” ส.ส.นครราชสีมา ในฐานเลขาธิการพรรคพท. กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นร่วมกันว่า การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เป็นการ ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งขณะนี้แต่ละพรรคได้รวบรวมข้อมูลและเตรียมความพร้อม ทั้งประเด็นการอภิปราย เอกสารและหลักฐานเรียบร้อยแล้ว

โดยจะมีการยื่นญัตติให้เร็วที่สุด ซึ่งเวลาที่เหมาะสมคือ ภายหลังจากการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองและร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ในวาระที่ 3 แล้ว

เนื่องจากเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย สำหรับใช้ในการเลือกตั้ง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจยุบสภาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะหากการยุบสภาเกิดขึ้นก่อนที่กฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับจะแล้วเสร็จ อาจทำให้เกิดทางตันหรือเดดล็อกทางการเมือง โดยที่ประชุมก็ได้มอบหมายให้ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรค พท. เป็นผู้ยกร่างญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เพื่อนำเสนอที่ประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าว หลังพรรคฝ่ายค้านทราบว่า รัฐบาลจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 66 เข้าพิจารณาในวันที่ 1 มิ.ย. 65 มีกระบวนการต่อรองกันขึ้น โดยฝ่ายค้านจะสนับสนุนให้รัฐบาลนำร่างพรบ.งบประมาณฯเข้ามาพิจารณาในสภาฯ ซึ่งเชื่อว่าจะผ่านความเห็นชอบ จากนั้นในการพิจารณาวาระที่ 2 ซึ่งอยู่ในชั้นกรรมาธิการฯ (กมธ.) ซึ่งมีฝ่ายค้านเข้าไปร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งฝ่ายค้านอาจขอผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อหวังนำไปใช้หาเสียง

อีกทั้งแม้จะไม่มีเรื่องแบ่งสรรปันส่วนงบประมาณ หลังมีการตัดงบจากโครงการต่างๆ มากองรวมไว้ แต่นักการเมืองก็มีช่องทางในการนำงบประมาณในส่วนดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ได้อยู่ดี

อีกทั้งยังมีข่าว พรรคฝ่ายค้านมีเงินให้ส.ส.ใช้เตรียมหาเสียง แค่คนละ 9 ล้านบาท เทียบกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้ง สูงถึงคนละ 30 ล้านบาท 

ดังนั้นพรรคฝ่ายค้านจึงหวังจะสามารถต่อรองกับรัฐบาลได้ โดยใช้ญัตติซักฟอกมาเป็นเครื่องมือ   

ก่อนหน้านั้น “วิษณุ​ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี​ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวสำนักงบประมาณเสนอขอเลื่อนวาระการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่จะเข้าสู่สภาไปเป็นในช่วงเดือนมิ.ย.65 ว่า สำนักงบประมาณได้แจ้งต่อรัฐบาลเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว​ เนื่องจากจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายฯแล้วเสร็จไม่ทัน​ เพราะจะมีการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.65 ซึ่งกว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวได้ คงจะเป็นวันที่ 25 พ.ค.

ทางสำนักงบประมาณจึงขอเลื่อนการพิจารณาวาระดังกล่าวไปอีก 1 สัปดาห์ โดยจะตรงกับวันที่ 1 มิ.ย. ทางรัฐบาลได้รับทราบปฏิทินดังกล่าวมาตั้งแต่กลางเดือนม.ค. ขณะนี้ทางรัฐบาลได้นำเรื่องเสนอต่อสภาแล้ว​ จากนี้ขึ้นอยู่กับประธานสภาฯ ว่าจะบรรจุวาระเมื่อไหร่ ขอย้ำว่ามันเป็นเรื่องของปฏิทินที่มีอยู่แล้ว ที่กำหนดไว้ว่าสภาจะต้องพิจารณาร่าง​ พ.ร.บ.งบประมาณฯให้เสร็จภายในกี่วัน

หากสภาพิจารณาไม่เสร็จ ถือว่าอนุมัติตามที่ครม.​เสนอ จากนั้นจะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นวุฒิสภา เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทุกอย่างแล้ว จะมีการนำขึ้นทูลเกล้าถวายฯต่อไป โดยรวมแล้วจะต้องให้เสร็จมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. ทุกปีจะมีปฏิทินเช่นนี้อยู่แล้ว

จึงไม่ใช้เรื่องแปลก เมื่อ “นายกฯลงตู่” จะประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่า “พร้อมรับมือศึกซักฟอกที่กำลังจะเกิดขึ้น” แถมยังยืนยันกับเพื่อนร่วมงาน ในระหว่างการประชุมครม.ว่า รัฐบาลจะอยู่จนครบเทอมในวันที่ 23 มี.ค.66  ซึ่งกว่าจะถึงวันนั้น เสียงของพรรคฝ่ายค้านอาจจะหายไปเรื่อยๆ

อย่าลืมว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้องฉันใด นักการเมืองก็ต้องมีเงินทุน ไว้สร้างฐานเสียงฉันนั้น บางทีศึกซักฟอกครั้งสุดท้าย ก่อนสภาจะหมดวาระ อาจจะกร่อยที่สุด เมื่อเทียบกับทุกครั้งที่ผ่านมา

………………………….

คอลัมน์ : ล้วง-ลับ-ลึก

โดย…“แมวสีขาว”                                                                                       

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img