“ประยุทธ์”อ้าง 5 ผลงานเด่นของรัฐบาล เป็นดัชนีชี้วัดในการพลิกโฉมประเทศอย่างก้าวกระโดด ไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกได้ในวันข้างหน้า และกำลังก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างมั่นคงและยั่งยืน
เมื่อวันที่ 30 เม.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ
แม้ว่าช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จะฉุดรั้งการพัฒนาต่างๆ ของโลกอย่างรุนแรง แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เรามีศักยภาพในมิติที่หลากหลาย และพร้อมที่จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลังจาก 2 มหาวิกฤตนี้ ซึ่งผมขอยกตัวอย่างในด้านต่างๆ ดังนี้
1. ด้านการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน
รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการลดภาระค่าครองชีพและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการรอบล่าสุดของปี 2565 มีผู้ได้รับประโยชน์แล้วมากกว่า 40 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสมเกือบ 70,000 ล้านบาท ผ่านหลากหลายโครงการ ทั้งโครงการคนละครึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และการช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนด้านการท่องเที่ยว เช่น เราเที่ยวด้วยกัน โครงการลดภาระด้านภาษีในการจัดซื้อชุดตรวจ ATK โครงการบรรเทาค่าครองชีพ การตรึงราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งและประชาชนผู้ใช้บริการ และล่าสุด ครม.ก็ได้พิจารณาอนุมัติหลักการจ่าย “เงินช่วยเหลือพิเศษ” แก่ผู้สูงอายุ เฉลี่ยรายละ 100 – 250 บาท ตามช่วงอายุ รวมกว่า 10 ล้านคน เป็นระยะเวลา 6 เดือน (เม.ย. – ก.ย.65) เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
2. ด้านสุขภาพ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องไทยเป็นหนึ่งใน “ประเทศต้นแบบ” ในการนำร่องจัดกิจกรรมการทบทวนการเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้า ในการรับมือการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นผลมาจากความร่วมมือกันในสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์สู่สาธารณะ ในการประชุมสมัชชาอนามัยโลก 2565 ถึงแนวปฏิบัติที่ดี และการพัฒนาเครื่องมือ-กลไกใหม่รองรับวิกฤติด้านสาธารณสุข สำหรับใช้งานทั่วโลกในอนาคต
ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตลดลงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย พบว่าแนวโน้มตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้ป่วยกำลังรักษาลดลง ถือได้ว่าเรารับมือสามารถจำกัดการแพร่ระบาดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ดี ขณะที่ผู้ป่วยหนัก/เสียชีวิตจากโควิดยังคงตัว ซึ่งเป็นผลมาจากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ โดยส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 70 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยติดเตียง อีกทั้งผู้เสียชีวิตจำนวนมากมักไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่จำเป็นอย่างมากสำหรับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้
ทั้งนี้ เดือนพฤษภาคม ก็จะเริ่มเปิดเทอมของเด็กๆ รัฐบาลก็ได้อำนวยความสะดวก และเพิ่มช่องทางการให้บริการวัคซีนให้หลากหลายขึ้น ทั้งการฉีด ณ สถานพยาบาลใกล้บ้านและสถานศึกษา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเด็กๆ ของเราจะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยผมได้กำชับให้สร้างความพร้อมอย่างเต็มที่ ตามหลัก “3 พอ” คือ เตียง – เวชภัณฑ์/วัคซีน/ยา – หมอ และให้จังหวัดต่างๆ ได้เตรียมความพร้อมเดินหน้าสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” ในระยะหลังโควิด รองรับการเดินหน้าไปสู่การเปิดประเทศในระยะต่อไป
3. ด้านการส่งออก
ในยามที่การท่องเที่ยวยังไม่กลับมาเหมือนเดิม การส่งออกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการสร้างรายได้ของพ่อแม่พี่น้อง ซึ่งผมและรัฐบาลพยายามทุกวิถีทางในการผลักดัน อำนวยความสะดวก เจรจาทางการค้ากับประเทศต่างๆ เพื่อขยายการค้าการลงทุนที่มีอยู่เดิม และเปิดตลาดใหม่อยู่ตลอดเวลา วันนี้เราเริ่มได้เห็นผลแห่งความพยายามนั้น อย่างเป็นรูปธรรม ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ผมยินดีที่จะแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้ทราบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน มี.ค.65 มีมูลค่า 28,859.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 19.5% ซึ่งเป็นขยายตัวต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 13 คิดเป็นเงินบาท มีมูลค่า 922,313 ล้านบาท ถือเป็นมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด ในรอบ 30 ปี นับตั้งแต่มีการบันทึกสถิติการส่งออกตั้งแต่ปี 2534
สำหรับการส่งออกมะม่วง ไทยถือเป็นอันดับที่ 2 ในอาเซียน และเป็นอันดับ 7 ของโลก โดยในปี 2564 ไทยส่งออกมะม่วงสด มูลค่ารวม 95 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 52% จากปี 2563 ต่อเนื่องจนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2565 ไทยเราส่งออกมะม่วงสด มูลค่ารวม 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวมากถึง 15% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ซึ่งรัฐบาลได้ สนับสนุนการขยายช่องทางทางการค้าเพิ่มเติม ผ่านการเจรจาการค้าเสรี และข้อตกลงทางการค้าเสรี FTA อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนารูปแบบ การแปรรูป เพิ่มช่องทางส่งออก และขยายกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนควบคุมมาตรฐานสินค้าและพัฒนาคุณภาพการผลิต ให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด เช่น การรับรองตามมาตรฐาน GAP หรือการขึ้นทะเบียนตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี นอกจากผลไม้และอาหารแล้ว ผมได้สั่งการเพิ่มเติมให้ส่งเสริมและผลักดัน Soft Power ดิจิทัลคอนเทนต์ สุขภาพความงาม และสินค้าอัตลักษณ์ไทย ให้มากขึ้นด้วย
4. ด้านการลงทุน
เช่นเดียวกับด้านการส่งออก จากความพยายามในการนำเสนอแผนการลงทุนและการเปิดประเทศของรัฐบาล ทั้งในเวทีโลกและการเจรจาในระดับทวิภาคี ที่ผมและรัฐมนตรีหลายท่านได้บินไปเจรจาด้วยตนเอง รวมทั้งจากการจัดการสถานการณ์โควิดที่เราทำได้อย่างดี และเป็นต้นแบบให้กับประเทศสมาชิก WHO ทำให้ประเทศไทยขึ้นอันดับ เป็นประเทศเป้าหมายจากนักลงทุนและบริษัทเอกชนทั่วโลก รวมทั้งรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในการเข้ามาขยายการค้า ลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ และผลักดันให้กลายเป็นศูนย์กลางในการผลิตสินค้าแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ EV แบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง หรือศูนย์กลางการแพทย์และการดูแลสุขภาพสมัยใหม่ ซึ่งผมและรัฐบาลได้วางแผนพื้นฐานโครงสร้างไว้อย่างครอบคลุม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น โครงการ “เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก” หรือ EECi ที่จังหวัดระยอง โดยจะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนวัตกรรมแห่งอนาคต ที่จะเริ่มเปิดดำเนินการได้ภายในปีนี้
โดยสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 ทั้งหมด 1,674 โครงการ มูลค่า 642,680 ล้านบาท เป็นคำขอฯ จากนักลงทุนต่างชาติ 783 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 455,331 ล้านบาท โดยประเทศที่มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน 10 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ สหรัฐฯ ไต้หวัน ออสเตรีย อิตาลี เกาหลีใต้ ฮ่องกง และนอร์เวย์ ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่อยู่ในระดับสูง โดยผมได้สั่งการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ให้ความสำคัญในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว การเจรจาทั้งทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเหมือนเดิม และดีกว่าช่วงก่อนโควิดให้ได้โดยเร็วที่สุด
5. ด้านการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศและการผลักดัน Soft Power ไทยสู่ระดับโลก
ทั้ง 2 ประการนี้ เป็นเรื่องที่ผมให้ความสำคัญอย่างยิ่งมาอย่างต่อเนื่อง โดยไทยเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นและล้ำค่าอยู่มากมาย ผมจึงได้กำหนดให้เรื่อง “Soft Power” นี้ เป็น “วาระสำคัญของ ครม.” ในการประชุมทุกๆ ครั้ง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งทุกๆ กระทรวง ได้เร่งผลักดันและขยายผลการดำเนินการประชาสัมพันธ์ประเทศ สอดแทรกการสร้างการรับรู้ Soft Power ของไทยในเวทีโลก ในทุกๆ ด้านอย่างเต็มที่
สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันถึงศักยภาพและ “เสน่ห์ไทย” ได้เป็นอย่างดี คือ ความสำเร็จอย่างงดงามของอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) จากเวที World Expo 2020 Dubai ที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมทั่วโลก รวมกว่า 2.35 ล้านคน ติด 5 อันดับแรกของอาคารแสดงที่มีผู้เข้าชมสูงสุด และยังได้รับรางวัลอีกมากมาย
สิ่งที่ผมกล่าวมาทุกข้อนี้ ถือเป็นดัชนีชี้วัดได้อย่างดี ให้เราชาวไทยมั่นใจ และภูมิใจได้ว่า ประเทศไทยของเรามีความพร้อม ในการพลิกโฉมประเทศอย่างก้าวกระโดด ไปสู่ประเทศชั้นนำของโลกได้ในวันข้างหน้า และ…เรากำลังก้าวเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง อย่างมั่นคงและยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน ตลอดจนลูกหลานของเราในวันข้างหน้าครับ