ฝ่ายความมั่นคง ประเมินสถานการณ์ของกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งผู้ชุมนุม นักวิชาการที่เห็นต่าง ยังไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานให้รัฐบาล “ลุงตู่” ได้มากนัก แม้จะขุดหาประเด็นช่วงเป็น คสช.มาโจมตีเพื่อด้อยค่ารัฐบาลก็ตาม
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. แหล่งข่าวจากฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้ว่า จากการติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่าขณะนี้นักวิชาการที่เห็นต่าง ได้แสดงความคิดเห็นหลักการประชาธิปไตยในมุมมองของตนผ่านสื่อสังคมออนไลน์เชื่อมโยงโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม แม้ว่าจะเป็นการกล่าวหานายกรัฐมนตรีในฐานะอดีต หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นต้นเหตุแห่งที่มาของรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ยังคงแฝงนัยสําคัญพาดพิงสถาบันให้เห็นอยู่
“น่าจะต้องการเสริมกระแสการชุมนุมวันรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเด็นความต้องการปฏิรูป สถาบันให้ดูมีน้ําหนักมากขึ้น ขณะที่ทางด้านพรรคเพื่อไทย ยังคงพยายามสร้างกระแสกดดันให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ตามแนวทางของฝ่ายตน ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่ามีความเป็นได้ยาก แต่คาดว่าเพื่อต้องการให้เป็นกระแส ทางการเมือง และเพื่อให้สังคมจับจ้องฝ่ายรัฐบาลเป็นสําคัญ อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทางการเมืองในเวลานี้กระแสต่อต้านรัฐบาลจากฝ่ายค้านในแทบทุกประเด็น ยังไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานให้รัฐบาลได้มากนัก”แหล่งขาวจากฝ่ายความมั่นคง กล่าว
ทั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนั้นมีปัญหา แต่มองปัญหาอยู่ที่ผู้ใช้ อยู่ที่ตัวบุคคล และอยู่ที่นักการเมืองเอง การสร้างวาทะกรรมว่าเป็นรัฐธรรมนูญเผด็จการก็เป็นเรื่องบิดเบือนไร้สาระ เนื่องเพราะ คณะกรรมการยกร่างฯ และ ส.ส.ร.ในช่วงนั้น ถูกเลือกสรรมาโดยใช้หลักวิชาการ และพิจารณาผู้รู้ ซึ่งมีความเป็นตัวของตัวเองเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง และจัดให้มีการลงประชามติ อย่างครบถ้วนแล้ว
อย่างไรก็ตาม การปรับแก้ไขรายมาตรานั้นกระทำได้อยู่แล้ว แต่การล้มทั้งฉบับไม่สามารถทำได้ และอาจถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง ฝ่ายความมั่นคง เชื่อข้อเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด รอดูว่าเมื่อเข้าสู่วาระ 2 แล้ว ความร่วมมือของฝ่ายค้านและส่วนเกี่ยวข้องที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีมากเพียงใด ฝ่ายความมั่นคงยังคงติดตามใกล้ชิดต่อ.