GGC ร่วมกับ GIZ จัดอบรมหลักสูตร TOPSA สร้างองค์ความรู้แก่เกษตรกรปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ดำเนินโครงการการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Sustainable and Climate-Friendly Palm Oil Production and Procurement in Thailand หรือ SCPOPP) โดยมีเป้าหมายมุ่งเน้นให้ประเทศไทยยกระดับการผลิตปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสู่มาตรฐานสากล และยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil)
จากเป้าหมายโครงการฯ ที่เน้นส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรองการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนตามกรอบมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ดังนั้น โครงการฯ จึงได้จัดอบรมหลักสูตรพัฒนาเกษตรรายย่อยของประเทศไทยในการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน (Thailand Oil Palm Smallholder Academy หรือ TOPSA) โดยหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรที่ GIZ และกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้พัฒนาและจัดขึ้นในรูปแบบของกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ได้รับการอบรม นอกจากนี้ ยังได้นำหลักการและเกณฑ์กำหนดของมาตฐานเกษตรกรรายย่อยของมาตรฐาน RSPO ตั้งแต่เริ่มต้น ตลอดจนการพัฒนาสื่อการสอนอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ
สำหรับประเด็นสำคัญในหลักสูตรที่นำมาฝึกอบรมกรณีศึกษา เช่น มาตรฐานการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน RSPO : เน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรับรอง RSPO มาตรฐานการรับรองระบบห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงขั้นตอนและการเตรียมตัวในการสมัครสมาชิก RSPO หรือ สิ่งแวดล้อม : การรับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมของสวนปาล์ม เล็งเห็นความสำคัญของการปลูกปาล์มน้ำมันและการรักษาระบบนิเวศของพื้นที่ การปลูกปาล์มน้ำมันให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึง สังคม : ที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกปาล์มน้ำมัน เช่น สิทธิที่ดิน แรงงาน การไม่เลือกปฏิบัติ ค่าจ้าง การล่วงละเมิดทางเพศ ความเท่าเทียม เป็นต้น
นายไพโรจน์ สมุทรธนานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า GGC เราพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในประเทศไทยและให้ได้การยอมรับในระดับสากล เพื่อสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย จำนวน 1,000 ราย ให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO ภายในปี 2567 และพร้อมสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้รับความรู้ด้านการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงเล็งเห็นว่า หลักสูตร TOPSA มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเครื่องมือและองค์ความรู้สำคัญที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกรไทย ให้สามารถนำองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนปาล์มน้ำมันที่ดีไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อนำไปสู่การทำสวนปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการผลกระทบทางสังคม ซึ่งจะเป็นไปตามข้อกำหนดของมาตรฐานที่วางไว้
โดยการอบรมจะเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2565 มุ่งเน้นส่งเสริมเกษตรกรสู่การเป็นวิทยากร (Train the Trainer) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐาน RSPO ไม่เพียงแค่จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้รับการรับรอง RSPO เท่านั้น แต่เรายังเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในระยะยาว เพราะเมื่อโครงการฯ สิ้นสุดลงไปแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเกษตรกรที่เข้าร่วมการฝึกอบรม พวกเขาจะมีองค์ความรู้ติดตัว สามารถนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อให้เพื่อนเกษตรกรด้วยกันซึ่งเป็นส่งเสริม RSPO ด้วยการสร้างองค์ความรู้อย่างยั่งยืนต่อไป ปัจจุบันโครงการฯ มีเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรม จำนวน 49 ราย และเมื่อจบหลักสูตรแล้วมีแผนที่จะดำเนินการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1,000 ราย ใน 5 พื้นที่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ตรัง กระบี่ สุราษฏร์ธานี พังงา และชุมพร
“ผมเชื่อว่า องค์ความรู้เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสําคัญที่จะช่วยสร้างโอกาสให้กับเกษตรกรและโอกาสทางการตลาดน้ำมันปาล์มของประเทศไทยให้สามารถเข้าถึงตลาดโลกได้ GGC จะร่วมเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการผลิตปาล์มอย่างยั่งยืนในประเทศไทย พร้อมเคียงข้างและส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศไทย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน RSPO อย่างยั่งยืนที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุล”นายไพโรจน์กล่าว