“สาธิต” ย้ำสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ต้องหาร 100 ตามหลักการที่แก้ไขมาแล้ว ยันจบพรุ่งนี้แน่ ไม่ปิดกั้นยื่นศาลรธน. ยันเร่งพิจารณาให้ทัน 22 พ.ค.นี้
วันที่ 11 พ.ค. 65 ที่รัฐสภา นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมกมธ.วิสามัญฯว่า วันนี้เป็นการพิจารณากฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังเหลืออีกหลายมาตรา โดยวันนี้คงจะพิจารณากันเต็มที่ และจะพยายามให้เสร็จโดยเร็ว ส่วนวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) จะเป็นการพิจารณากฎหมายเรื่องการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีประเด็นสำคัญคือ เรื่องวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือที่บางคนใช้คำว่าส.ส.พึงมี แต่ทั้งหมดขึ้นต้องอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาที่ต้องยึดโยงมาตรา 91 ว่าที่แก้มามีหลักการอย่างไร ส่วนประเด็นความเห็นต่างก็เป็นสิทธิของกมธ.วิสามัญฯที่จะสงวนความเห็น หรือยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ แต่ในกมธ.วิสามัญฯมีความชัดเจนอยู่แล้วว่า การพิจารณาวิธีการคำนวณต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมาแล้ว ซึ่งน่าจะเป็นการคำนวณโดยเป็นไปตามสัดส่วนที่สัมพันธ์กันกับพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งในจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน คือการเอา 100 ไปหาร
เมื่อถามว่า ตอนนี้ยังมีการถกเถียงกันเรื่องหาร 100 หรือ 500 จะทำให้ต้องขยายกรอบเวลาหรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ต้องแยกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนของความเห็นที่ใครจะมีความเห็นอย่างไรก็ได้ แต่ในส่วนของการร่างกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักการและเป็นไปในแนวทางกฎหมาย รวมถึงระเบียบข้อบังคับของรัฐสภา โดยต้องแก้ไขไปตามหลักการ และร่างที่ขอแก้จะต้องเป็นไปตามหลักใหญ่คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ตนจะพยายามพิจารณาประเด็นหาร 100 หรือ 500 ให้จบภายในวันพรุ่งนี้ (12 พ.ค.) เพราะเรามีข้อตกลงกันแล้วว่าการโหวตไม่ต้องนัดล่วงหน้า เพื่อให้การพิจารณาเสร็จตามเป้าหมายตามที่กำหนดไว้คือ วันที่ 22 พ.ค. เราจะเดินหน้าทำให้กฎหมายเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญของสถานการณ์และนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองหรือไม่หรืออยู่จนครบวาระ หากผ่านวาระ 3 กฎหมายสองฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประชาชนตัดสินในการเลือกตั้งครั้งหน้า
เมื่อถามว่า มีกมธ.วิสามัญฯบางคนเห็นว่าการหารด้วย 100 อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะแก้ไขแค่มาตรา 91 นายสาธิต กล่าวว่า เป็นอีกความเห็นหนึ่ง สำหรับการแก้ไขมาตราเดียวนั้นต้องยอมรับว่าเป็นความบกพร่องของกมธ.วิสามัญแก้ไขรัฐธรรมนูญบางส่วนแก้ไขไม่ครบถ้วน แต่ไม่เป็นเหตุจนถึงต้องไปเปลี่ยนสัดส่วนในการคำนวณ เพราะคำพูดในการแก้ไขมีความชัดเจนแล้ว
เมื่อถามว่า ในอนาคตหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายลูกฉบับนี้จนกระทบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องเริ่มกระบวนการแก้ไขใหม่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตที่จะต้องไปติดตามว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นอย่างไร จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ แต่ในขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมามีการนำร่างที่แก้ไขเสร็จแล้วส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งขั้นตอนนั้นเป็นสิ่งที่บอกว่าเมื่อผ่านมาแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่พอมายื่นใหม่จะมีปัญหาก็จะต้องมีเหตุผลที่ต้องแสดงออกว่าปัญหาไม่ตรงกับครั้งแรกตอนไหน