นายกฯแจงเหตุผลตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศ เพราะบ้านเมืองเดินต่อไม่ได้ แลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย วันนี้ประเทศได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ พร้อมที่จะเติบโตด้วยเศรษฐกิจใหม่
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.65 ที่ รอยัล พารากอน ฮอล์ สยามพารากอน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม จะเป็นประธานการประชุมเสวนา “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม”
นายกฯ ระบุว่า เมื่อย้อนคิดเสมอถึงวันที่ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน วันนั้นประเทศไทยมีการแบ่งขั้ว สลับกันต่อต้านซึ่งกันและกัน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมานับ 10 ปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ซึ่งในวันนี้ พวกเราหลายคนอาจจะลืมกันไปแล้ว และเมื่อตนได้ตัดสินใจไปแล้ว ก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด ซึ่งต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่าประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย
นายกฯ กล่าวต่อว่า รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และประเทศเรามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเยี่ยมเยียนกว่า 40 ล้านคน ในเวลานั้น รัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการสร้างบ้านสร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ จำเป็นต้องมี Master Plan ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าใจและเห็นภาพบ้านของเราในอนาคตเดียวกัน เดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ตนได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตนและคณะรัฐมนตรีทุกคน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันแม้หลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ แต่ประเทศไทยก็ยังเติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยก ทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลของผมก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมีการลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่