ทุกระบบเศรษฐกิจเริ่มต้นจาก “การแลกเปลี่ยน” ด้วยระบบการค้าเสรีในปัจจุบัน ยิ่งแลกเปลี่ยนได้มากเท่าไร ก็เป็นผลดีมากเท่านั้น “ระบบการค้าระหว่างประเทศ” จึงมีความสำคัญกับเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างมาก
ข้อมูลจาก ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (ttb analytics) พบว่า ในปี 2564 ที่ผ่านมา แม้จะเป็นช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกอย่างชะลอตัวเป็นส่วนใหญ่ แต่ ธุรกิจนำเข้าและส่งออก กลับมีการเติบโตถึง 23% โดยคิดเป็นการนำเข้า 29.8% และการส่งออก 17.1% จึงส่งผลให้ GDP ภาพรวมของประเทศไทยขยายตัว 1.6% ถือว่าเป็น “พระเอกขี่ม้าขาว” ที่มาช่วยเศรษฐกิจไทยในยุคโควิดที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว และในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมสูงถึง 922,313 ล้านบาท เติบโต 19.5% เป็นมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในรอบ 30 ปี มีดุลการค้าเพิ่มขึ้น 34,960 ล้านบาท
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ชี้ให้เห็นว่าสินค้านำเข้า-ส่งออกที่เติบโตในช่วงโควิด-19 ประกอบด้วยสินค้าสำคัญ 3 หมวด ได้แก่ 1.สินค้าการเกษตร 2.สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และ 3.สินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งสาเหตุที่ปริมาณการค้าเติบโตแบบก้าวกระโดดในครั้งนี้ เป็นผลจากปี 2563 ที่เกิดวิกฤตโควิด-19 อย่างหนัก ทำให้อัตราการค้าระหว่างประเทศลดลงอย่างรุนแรง
แต่พอเข้าสู่ปี 2564 ตลาดโลกได้มีการรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดได้ดีขึ้น ทำให้มีการฟื้นตัว รวมไปถึงมีความต้องการสินค้าทั่วโลกอย่างเร่งด่วน ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูง การผลิตทั่วโลกจึงขยายตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกมีโอกาสเติบโตได้ดี โดยการคาดการณ์ในปี 2565 นี้ จะยังขยายตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการส่งออก ที่ค่าเงินบาทมีการอ่อนค่าลงมาก ซึ่ง สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ได้คาดการณ์ว่า การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น 3-4% ในปีนี้ คิดเป็นมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากตัวเลขการนำเข้าและส่งออกที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จึงเป็นโอกาสใหม่ ๆ ให้ ผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีสัดส่วนมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกอยู่ประมาณ 13% ของมูลค่าโดยรวมของประเทศ โดยประเทศที่ไทยส่งออกมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา รองลงมาเป็นจีน และญี่ปุ่น ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศที่เรานำเข้ามากที่สุด คือ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามโอกาสมักจะมาพร้อมความท้าทายเสมอ ซึ่งหากผู้ประกอบการสามารถรับมือกับความท้าทายได้โอกาสทางธุรกิจก็รออยู่แค่เอื้อม
5 เคล็ดลับความสำเร็จที่จะทำให้ SME สามารถชนะทุกความท้าทาย จนโลดแล่นในวงการการค้าระหว่างประเทศได้
1.ขยายตลาดไปต่างประเทศด้วยการตลาดออนไลน์
ช่องทางออนไลน์สามารถพลิกธุรกิจให้เติบโตได้ เช่น ธุรกิจเล็กที่สามารถส่งออกได้อย่างประสบความสำเร็จในยุคโควิดของ คุณริต้า เช็ง นักธุรกิจสาวชาวจีน ที่ได้นำแบรนด์เสื้อผ้าไทยกว่า 30 แบรนด์ ส่งออกขายในเว็บไซต์เถาเป่า โกลบอล (Taobao Global) เว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน จนสร้างรายได้มหาศาล
2.การหาความรู้เกี่ยวกับประเทศที่ส่งออก
รู้เขา รู้เรา รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง คำเปรียบเปรยที่ยังได้ผลแม้ต้องดำเนินการธุรกิจในต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการ SME ควรหาความรู้ทั้งกฎหมายการค้า ภาษี สถิตินำเข้าส่งออกที่น่าสนใจ รวมไปถึงเทคนิคที่สร้างสินค้าให้โดนใจ SME สามารถเข้าใจ Insight แต่ละประเทศได้ โดยในไทยสามารถเริ่มหาข้อมูลจาก
• กรมการค้าระหว่างประเทศ (https://www.dft.go.th)
• กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (https://ditp.go.th)
• เว็บที่แสดงการรวบรวมสถิติการนำเข้าส่งออกในหมวดต่าง ๆ (https://tradereport.moc.go.th/TradeThai.aspx)
• กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (https://www.dtn.go.th/th/home)
สำหรับการหาข้อมูลกฎหมายข้อบังคับทางการค้าและภาษีในต่างประเทศนั้น ดูได้จากกระทรวงการค้าของประเทศนั้น ๆ ผ่านทางเว็บไซต์ หรือ ติดต่อสถานทูตของแต่ละประเทศ การเข้าใจ Insight ผู้บริโภคหรือเทคนิคการผลิตสินค้าต่าง ๆ ให้เริ่มศึกษาจากคู่แข่งในต่างประเทศว่าสินค้าหรือบริการที่คล้ายกันนั้น ใช้เทคนิคอะไร และเจาะไปที่การตลาดที่เหมาะสมในแบบประเทศนั้น ๆ เป็นต้น
3.การเข้าร่วมกลุ่มและรับการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐ
รัฐบาลจะมีโครงการช่วยผลักดันทั้งการนำเข้าและส่งออก ผ่านกลไกต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การออก Trade Show หรือการอบรมเพื่อผู้ส่งออกโดยเฉพาะ เป็นต้น โดยในปี 2565 นี้ รัฐบาลมีแผนสำคัญ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพผู้ประกอบการ ส่งเสริมการส่งออกสินค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ (ไฮบริด) เพื่อให้ SME ดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน อีกทั้งยังมีการจัดเจรจาการค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ (OBM) ร่วมมือกับ Tmall Global (จีน) Amazon (สหรัฐอเมริกา) BIG Basket (อินเดีย) รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ และการจัดงานเจรจาการค้าออนไลน์เสมือน Mirror and Mirror ซึ่ง SME สามารถติดตามได้จากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)
4.การมีวงเงินสินเชื่อที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ
เงินทุนถือเป็นความท้าทายในระดับต้น ๆ การก้าวข้ามขีดจำกัดนี้ได้ จะช่วยให้สามารถสร้างความแตกต่างด้วยการใช้ประโยชน์จากการนำเข้าได้ โดยการหาแหล่งสินเชื่อที่รองรับการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะ ช่วยให้ผู้ประกอบการคว้าโอกาสที่เข้ามาได้ เพราะไม่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และเหมือนได้ที่ปรึกษาทางการทำธุรกิจต่าง ๆ มาช่วยสนับสนุน ลดขั้นตอนความยุ่งยาก และถูกต้องตามกฎการค้ารวมไปถึงเรื่องภาษีต่าง ๆ
5.การบริหารความผันผวนของสกุลเงินต่างประเทศ
ความท้าทายใหญ่อีกประการของ SME ที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกที่ต้องเผชิญ คือ การบริหารจัดการกับสกุลเงินต่างประเทศที่ผันผวนตลอดเวลา การซื้อขายด้วยสกุลเงินท้องถิ่นจะช่วยลดความท้าทายเรื่องความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์ (USD) ได้ ซึ่งผู้ประกอบการควรมีบัญชีที่สามารถบริหารหลายสกุลเงินเพียงบัญชีเดียว เพื่อ
ลดความยุ่งยากในการเปิดบัญชี FCD หลายบัญชี เมื่อมีคู่ค้าหลายประเทศ รวมถึงความสามารถในการทำธุรกรรมการค้าผ่านออนไลน์ อำนวยความสะดวก คล่องตัว เพื่อให้สามารถทำการค้ากับต่างประเทศที่มี Time Zone ไม่ตรงกันได้ง่ายขึ้น รวมถึงต้องมองหาระบบธนาคารดิจิทัลสำหรับธุรกิจ ที่ปลอดภัยมั่นใจได้มาสนับสนุน
………………………..
ข้อมูลจาก finbiz by ttb