“บ้านปูเน็กซ์” เผย 5 เทรนด์การใช้เทคโนโลยี-โซลูชันอัจฉริยะที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ต้องมีลดต้นทุนในระยะยาว-ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสมาร์ทก้าวสู่นิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 4.0-Smart Factory
นายชนิต สุวรรณพรินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริหารการตลาดและการขาย บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า การดิสรัปชันของเทคโนโลยี (Technology Disruption) ภาวะโลกร้อน วิกฤติโควิด-19 และการขาดแคลนแรงงาน ล้วนเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม นำเทคโนโลยีและโซลูชันอัจฉริยะมาขับเคลื่อนการดำเนินงานให้แข็งแกร่งในทุกมิติ
ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดการณ์ว่า ในปี 2565 ตลาดโซลูชันโรงงานอัจฉริยะไทย (Smart Factory Solutions: SFS) จะมีแนวโน้มเติบโต 9.4% ซึ่งเทคโนโลยีและโซลูชันอัจฉริยะจะเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยสร้างอีโคซิสเต็มสู่การเป็น Smart Eco 4.0 และ Smart Factory ยกระดับกระบวนการผลิตและบริหารจัดการโรงงานอย่างครบวงจร โดยมี 5 เทรนด์ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและโซลูชันอัจฉริยะเข้ากับกระบวนการต่าง ๆ ดังนี้
• เทรนด์การผลิตอัจฉริยะ (Smart Operation) เพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพในการผลิตให้สูงขึ้น โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตอุตสาหกรรมในโรงงาน (Industrial Internet) เช่น หุ่นยนต์ แขนกล ระบบอัตโนมัติ และเซ็นเซอร์ ผสานการทำงานคู่กับ AI, IoT หรือระบบคลาวด์ เพื่อเชื่อมต่อเครื่องจักรในโรงงานเข้ากับฐานข้อมูล และพนักงาน ให้สามารถควบคุม สั่งการ รวมถึงสื่อสารและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทุกที่ทุกเวลา ทั้งยังสามารถนำ Big Data มาวิเคราะห์กระบวนการผลิต คาดการณ์จำนวนวัตถุดิบ และตรวจสอบประสิทธิภาพเครื่องจักร เป็นต้น
• เทรนด์การจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลแพลตฟอร์มมาตรวจติดตาม ประเมิน และวิเคราะห์การใช้พลังงานและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อปรับแนวทางการใช้พลังงานในโรงงานให้คุ้มค่า
รวมถึงนำเทคโนโลยีพลังงานฉลาดมาเสริมประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า ลดการปล่อย CO2 และลดค่าไฟฟ้าได้มหาศาล เช่น ติดตั้ง “ระบบโซลาร์” เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เสริมจากพลังงานหลัก ทั้งยังสามารถติดตั้งอุปกรณ์เสริมอย่าง “ระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า” เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของไฟฟ้า และกักเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ดำเนินงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับโรงงานที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น เพื่อการดำเนินกิจการได้ต่อเนื่องไม่มีสะดุด “ระบบไมโครกริด” ก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่สามารถผลิต กักเก็บ และจ่ายไฟฟ้าภายในระบบเดียวแบบครบวงจร โดยเทคโนโลยีพลังงานเหล่านี้สามารถมอนิเตอร์การทำงานผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มได้แบบเรียลไทม์
• เทรนด์การเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) นำระบบขนส่งแบบครบวงจร (Fleet Management) และยานพาหนะไฟฟ้ามาใช้งานภายในโรงงาน อาทิ การเดินทาง เคลื่อนย้ายสินค้าในโกดัง ขนส่งสินค้าภายนอกโรงงาน เป็นต้น โดยมีดิจิทัลแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชัน มอนิเตอร์การเดินทาง สมรรถนะเครื่องยนต์ รวมถึงแจ้งเตือนเหตุขัดข้องแบบเรียลไทม์
• เทรนด์ความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) นำสมาร์ทเซฟตี้ แพลตฟอร์ม (Smart Safety Platform) ที่มีระบบ CCTV และ AI เข้ามาดูแลความปลอดภัยรอบด้านให้โรงงาน ซึ่งสามารถค้นหาวัตถุ หรือผู้ต้องสงสัย ตรวจจับควันไฟ คัดกรองโควิด-19 เพื่อการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และสั่งการได้แบบเรียลไทม์
• เทรนด์การจัดการและหมุนเวียนขยะ (Waste Management) เปลี่ยนการทิ้งขยะเป็นการจัดการขยะอย่างมีระบบภายในโรงงาน ด้วยการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มมาบริหารจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งแต่การคัดแยกขยะและวัสดุเหลือใช้ บันทึกและวิเคราะห์ข้อมูล วางแผนส่งต่อไปดำเนินการอย่างเหมาะสม เช่น นำกลับไปใช้ใหม่ สร้างประโยชน์ หรือสร้างรายได้คืนให้ธุรกิจ
การใช้เทรนด์เทคโนโลยีข้างต้น สามารถสร้างประโยชน์ให้ธุรกิจได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นสร้างความคุ้มค่าระยะยาว ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า การใช้แรงงาน และทรัพยากร เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทั้งด้านปริมาณ ความเร็ว ความแม่นยำ คุณภาพในการผลิต และการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ต่อยอดธุรกิจ นำข้อมูลเชิงลึกจากระบบต่างๆ ไปพัฒนาการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ช่วยเพิ่มความปลอดภัย ลดโอกาสในการเกิดอุบัติภัยในโรงงาน ลดความเสี่ยงโควิด-19 สร้างความยั่งยืนรอบด้าน ลดการปล่อย CO2 การใช้พลังงานและทรัพยากรเกินจำเป็น สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้ทุกคน และ เพิ่มมูลค่าธุรกิจ ส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจที่ดำเนินงานยั่งยืนตามหลัก ESG สามารถยกระดับสู่ต้นแบบนิคมฯ และโรงงานอัจฉริยะ