“จิราพร” ถล่มรัฐตั้งงบฯ “ขูดรีดปชช.” จากภาษี 9 หมื่นล. ไม่ช่วยฟื้นฟูยังปล่อยไปตายเอาดาบหน้า ยก “ทักษิณ” ข่มหากอยู่ยาว 8 ปีเศรษฐกิจไทยหน้าตาไม่เป็นแบบนี้ ซัดใช้เงินมือเติบ หาเงินไม่เป็น วอนขอโอกาส พท.เป็นรัฐบาล มั่นใจดันศก.สร้างสรรค์สร้างรายได้ให้ปชช.แน่
วันที่ 1 มิ.ย.65 เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185 ล้านล้านบาท เป็นวันที่สอง โดยนายศุภชัย แจ้งต่อที่ประชุมว่า เวลาในการอภิปรายวันแรกใช้เวลารวม 13 ชั่วโมง 13 นาที โดยครม.และพรรคร่วมรัฐบาล ได้เวลาจัดสรร 22 ชั่วโมมง ใช้เวลาไป 2 ชั่วโมง 12 นาที, ส.ส.ร่วมรัฐบาล ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 53 นาที เหลือเวลา 15 ชั่วโมง 53 นาที ขณะที่ฝ่ายค้าน ได้เวลาจัดสรร 22 ชั่วโมง ใช้เวลาแล้ว 6 ชั่วโมง 50 นาที เหลือเวลา 15 ชั่วโมง 9 นาที
โดยน.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายคนแรกว่า วันนี้ประเทศไทยเริ่มเปิดประเทศเต็มรูปแบบ เป็นสัญญาณของการฟื้นเศรษฐกิจ ร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ที่จะเริ่มใช้ช่วงปลายปี 65 จะต้องเป็นงบที่เตรียมไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด – 19 แต่นอกจากจะไม่ช่วยฟื้นฟู ยังทำงบแบบหารายได้เข้ารัฐโดยขูดเลือดขูดเนื้อประชาชน จึงขอเรียกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ฉบับขูดรีดประชาชน
ซึ่งรายได้หลักของรัฐบาลมาจากภาษี และรัฐพาณิชย์ หรือ รัฐวิสาหกิจ ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รัฐบาลกู้ได้สูงสุด 7.1 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลตั้งใจปรับลดเหลือ 6.9 แสนล้านบาท ไม่กู้เต็มเพดาน เพื่อให้ตัวเลขดูน้อยกว่าปีก่อน แต่เพิ่มประมาณการรายได้แทน โดยปี 66 ประมาณการรายได้เพิ่มเป็น 2.49 ล้านล้านบาท พฤติกรรมเช่นนี้ถือว่าเอาเปรียบประชาชน ผลักภาระซ้ำเติมประชาชนที่ยังไม่เห็นแสงสว่างที่จะฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจ
ภาษีส่วนใหญ่ที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นรายการที่กระทบประชาชนโดยตรง โดยตั้งเป้าปี 66 จะเก็บภาษีนิติบุคคลให้ได้ 6.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9 หมื่นล้านบาท ถามว่าจะเน้นเก็บจากใคร จากธุรกิจขนาดใหญ่หรือธุรกิจเอสเอ็มอี ตนมีข้อสังเกตว่า รายได้ภาษีนิติบุคล 80% มาจากบริษัทขนาดใหญ่ รัฐบาลอาจเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเหล่านี้เพื่อที่จะได้มาจ่ายภาษีตามที่รัฐบาลตั้งเป้า และละเลยธุรกิจเอสเอ็มอี แต่หากเก็บภาษีจากธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ได้ตามเป้า กรรมก็อาจตกมาอยู่ที่เอสเอ็มอีที่บอบช้ำอยู่แล้ว
น.ส.จิราพร กล่าวต่อว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่รัฐบาลเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่พอเก็บจริงไม่สามารถเก็บจากกลุ่มเป้าหมายได้ เพราะมีช่องโหว่ทางกฎหมาย กลายเป็นคนที่จ่ายภาษีจริงเป็นคนที่มีรายได้ปานกลางเป็นชนชั้นกลาง นอกจากรัฐบาลจะรีดภาษีประชาชนยามวิกฤต รัฐบาลยังไปขอเงินจากรัฐวิสาหกิจเพิ่ม ตั้งแต่ปีงบ 65 – 66 รัฐบาลเรียกเก็บเงินจากรัฐวิสาหิจทุกแห่งเข้าคลังเพิ่มขึ้นอีก 5% เดิมรัฐวิสาหกิจต้องนำเงินส่งคลัง 45% ของกำไร แต่ต้องส่งเพิ่มเป็น 50% การให้รัฐวิสาหกิจส่งเพิ่มแม้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่สะท้อนว่าหลังโควิด-19
รัฐบาลชุดนี้สิ้นไร้ไม้ตอกไม่รู้จะหาเงินจากไหน แต่สิ่งที่ผิดเต็มๆคือกลับปล่อยปละละเลยให้รัฐวิสาหกิจขูดรีดประชาชนด้วยการประกาศขึ้นค่าไฟโดยที่รัฐไม่เข้าไปกำกับดูแล เพราะต้องการส่วนแบ่งกำไรจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นส่วนแบ่งของรัฐบาลใช่หรือไม่ รัฐบาลกำไรปล่อยให้ประชาชนไปตายเอาดาบหน้า ดังนั้น รัฐบาลต้องหาทางกำกับดูแลเพื่อช่วยเหลือประชาชน แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม คงไม่รู้สึกอะไร เพราะท่านอยู่บ้านหลวง ใช้ไฟฟรี น้ำฟรี รถหลวง ไม่เข้าใจความทุกข์ยากประชาชน
“รัฐบาลใช้เงินมือเติบ สุรุ่ยสุร่าย แต่หารายได้ไม่เป็น บริหารประเทศมา 8 ปี ยังลงทุนแบบเก่าๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เมื่อเกิดโควิด-19 เราไม่มีอะไรขับเคลื่อนใหม่ๆ มัวแต่กินบุญเก่า เศรษฐกิจประเทศจึงน่วมมาจนทุกวันนี้ ถ้ารัฐบาลทักษิณอยู่ยาว 8 ปี อย่างพล.อ.ประยุทธ์ หน้าตาเศรษฐกิจไทยจะไม่ใช่แบบนี้แน่นอน ถ้าประชาชนให้โอกาสพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เราจะนำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟท์พาวเวอร์ มาใส่ลงในเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างโอกาส สร้างรายได้ ความคิดสร้างสรรค์ไม่มีวันเกิดขึ้นได้จากรัฐบาลเผด็จการ สืบทอดอำนาจ”น.ส.จิราพร กล่าว
น.ส.จิราพร กล่าวด้วยว่า ถ้าปล่อยให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านทุกอย่างจะวนเวียนซ้ำซากแบบนี้ทุกปี ไม่เห็นอนาคตของประเทศ อยากให้นายกฯ ทำความเข้าใจว่ารัฐบาลทำงบแบบเดิม โคงสร้างแบบเดิม เปลี่ยนแค่ตัวเลขใหม่ ตนจึงไม่อยากให้เอาร่างกลับไปแก้ เพราะแก้ไปก็เหมือน 8 ปีที่ผ่านมา จึงขอให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ 66 ถูกตีตกไปพร้อมพล.อ.ประยุทธ์ และให้รัฐบาลที่มาจากเลือกตั้งของประชาชนได้มาจัดทำงบฉบับใหม่เพื่อคืนความหวังให้ประชาชน