วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกCOLUMNISTSสัญจรภาคเหนือแบบ“เที่ยวไป เขียนไป”
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

สัญจรภาคเหนือแบบ“เที่ยวไป เขียนไป”

“เปรียญสิบ” ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เดินทางจากรุงเทพมหานครสัญจรไปทั่วจังหวัดภาคเหนือ ประเภทค่ำไหนนอนนั่น แบบ “เที่ยวไป เขียนไป” เพลิดเพลินไปกับการเสพทิวทัศน์ธรรมชาติสองข้างทาง

ซึ่งในฤดูฝนแบบนี้ มองไปทางไหนก็เขียวขจี บางเวลาผ่านทุ่งนา ท่องไร่ เห็นชาวนาชาวไร่กำลังหว่านข้าวบ้าง ปลูกพืชผลทางเกษตรบ้าง เห็นวัวควายเล็มหญ้ากินอยู่เป็นระยะ ๆ ทำให้มีความสุขและเพลิดเพลินกับบรรยากาศแบบนี้

บางคราวเจอวัดข้างทางก็จอดรถแวะไปกราบพระเจดีย์ เข้าไปกราบพระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ภายในวัด บางวัดเจอพระภิกษุก็เข้าไปสนทนาบ้าง ไปแบบคน “ปล่อยวาง” ไม่ให้จิตมันผูกมัดร้อยรัดกับอะไร ชีวิตคนวัยกลางคนแบบ “เปรียญสิบ” นี้มันต้องรู้จักปล่อยวางบ้างก็จะดี

คืนแรกนอนจังหวัดลำปาง โดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย อำนวยความสะดวกที่พักให้ ซึ่งที่พักเป็น “ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนลำปาง” ที่พักเหมือนกับโรงแรม มีห้องนับร้อยห้อง มีทั้งห้องพิเศษและทั่วไป ภายในศูนย์แห่งนี้ รื่นรมย์ไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้ต่าง ๆ นานา บางแปลงก็เป็นการจำลองการทำ “โคก หนอง นา” ทั่วบริเวณพื้นที่สะอาดและเงียบสงบ..

เป้าหมายตื่นเช้ามีกำหนดเดินทางไปสู่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดิมคือ ขับรถไปเรื่อย ๆ เจอวัดไหนดูแล้วอยากเข้าไปกราบพระหรืออยากเดินเล่น พักสายตา พักรถ ก็จอดรถพัก จากลำปางกว่าจะถึงอำเภอแม่แจ่ม เชียงใหม่กินเวลา 6 ชั่วโมงกว่า ๆ หลังจากพูดคุยกับนายอำเภอแม่แจ่มเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่พาไปดูแปลง “โคก หนอง นา” โมเดล ขับรถไต่ไปตามสันภูเขาหัวโล้นลูกแล้วลูกเล่า เมื่อถึงเป้าหมายที่เป็นเกษตรกรที่ทำเรื่อง “โคก หนอง นา” ตามรอย ศาสตร์ของพระราชา เดินดูแปลงแล้วพูดคุย เท่าที่ฟังทุกคนเปรียบเสมือน “ปราชญ์เดินดิน” อย่างแท้จริง มีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการใช้ชีวิตแบบ พออยู่ พอกิน พอใช้ และ พอร่มเย็น สมถะพอเพียงยิ่งกว่าพระภิกษุบางรูปเสียอีก

วันรุ่งขึ้นหลังจากจบภารกิจจากแม่แจ่ม เดินทางไปจังหวัดเชียงรายไปพักแรมที่ “วัดพระธาตุผาเงา” เป็นวัดของเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย วัดเงียบสงบร่มรื่น ถามพระภิกษุรูปหนึ่งบอกว่า วัดพระธาตุผาเงาเป็นสำนักเรียนบาลีด้วย มีพระเณรเรียนประมาณ 30 รูป เสียดายว่าไม่เจอเจ้าอาวาส เนื่องจากท่านติดศาสนกิจไปต่างจังหวัด

เช้าวันรุ่งขึ้นเดินทางไปคุยกับ “พระอาจารย์วิบูลย์ เตชธมฺโม” แห่งวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ท่านเป็นพระนักพัฒนาชุมชนตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เท่าที่ฟังท่านเป็นพระนักต่อสู้แบบพึ่งพาตนเอง รักธรรมชาติ รักป่า ฟังท่านเล่า กว่าจะมีวันนี้ท่านทำเองโดยไม่มีภาครัฐเข้ามาช่วยอยู่ประมาณ 10 กว่าปี ตอนหลังภาครัฐเห็นว่าท่านทำจริงจัง ดูแลป่าได้ จึงมอบป่าไม้ให้ดูแลนับพันไร่ ซ้ำตอนหลังกรมการพัฒนาชุมชนยุค

ช่วง “คุณสุทธิพงษ์ จุลเจริญ” เป็นอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ก็นำเอาโครงการโคก หนอง นา เข้ามายังพื้นที่พัฒนาเป็นแบบอย่าง พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงให้ประชาชนในจังหวัดและใกล้เคียง ได้มาศึกษาเรียนรู้ ตอนหลังเมื่อภาครัฐเห็นว่าท่านทำงานได้ดี จึงมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน มาซื้อที่ให้ประมาณ 80 ไร่ แจกจ่ายให้กับประชาชนที่ยากจนคนละ 1 ไร่ประมาณ 60 ครัวเรือนได้เข้ามาทำกินตามแบบ “โคก หนอง นา” และภายใต้เงื่อนไขว่า ประชาชนที่มาอยู่ที่นี้ต้องถือศีล 5 ห้ามใช้สารเคมี อยู่ร่วมกันแบบหลัก “บวร”

วันต่อมาเดินทางจากจังหวัดเชียงราย ผ่านจังหวัดพะเยา แวะพักทานข้าวที่ “กว้านพะเยา” ต่อด้วยเข้าไปกราบหลวงพ่อวัดศรีโคมคำ สังเกตเริ่มมีนักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นและประชาชน เข้ามากราบพระขอพรกันมากมายหลายตา หลังจากนั้นเดินทางต่อไปยังจังหวัดแพร่ ค่ำคืนนี้ฝากชีวิตไว้กับโรงแรม ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากวัดพระบาทมิ่งเมืองมากนัก พรุ่งนี้เช้าตั้งใจจะไปกราบพระประจำจังหวัดแพร่ภายในวัดแห่งนี้

“วัดพระบาทมิ่งเมือง” น่าจะเป็นวัดเจ้าคณะจังหวัดเพราะเห็นมีป้ายติดอยู่ว่า “สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดแพร่” เจอพระรูปหนึ่ง ท่านเล่าว่า เดิมวัดพระบาทมิ่งเมืองเป็น 2 วัดติดกันหลังปี 2470 มีการยุบรวมวัดจึงชื่อว่า “วัดพระบาทมิ่งเมือง” พระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดมี 2 องค์ รวมทั้งเจดีย์องค์เก่าด้วย ที่นี้เห็นมีสามเณรหลายร้อยรูปเพราะเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย

เห็นครูสอนแต่งตัวปอน ๆ บอกว่าจบมหาจุฬาฯ รุ่น 46 และเห็นสามเณรนั่งสวดมนต์กันอยู่ ทำให้นึกถึง พ.ร.บ.การศึกษาพระปริยัติธรรม พ.ศ.2562 จนปานนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีเงินมาสนับสนุน หวังว่าปีงบประมาณหน้า รัฐบาลคงจะมีให้..หากไม่มี คณะสงฆ์อาจจำเป็นต้องแอคชั่นกันบ้างละ!!

ความจริงมีเรื่องเล่าไปไหว้พระประจำจังหวัดอีกหลายจังหวัด ทั้งหลวงพ่อเพ็ชร วัดท่าถนน พระพุทธรูปประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ ซ้ำเป็นวัดที่ “เปรียญสิบ” เคยอาศัยเรียนบาลีอยู่ 2-3 พรรษา ทั้งหลวงพ่อพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก  วัดผาซ่อนแก้ว จังหวัดเพชรบูรณ์ หรือแม้กระทั้งไปคุยกับเจ้าอาวาสวัดพระวรราชาทินัดดามาตุ

ซึ่งภายในวัดท่านทำโครงการ “โคก หนอง นา” ด้วย ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า ทำ โคก หนอง นา ไม่ซับซ้อนอะไร แค่อยากมีผักไว้แจกชาวบ้านให้มีกิน มีของติดมือไปเวลามาวัดหรือเรามีของแจกเวลาไปเยี่ยมชาวบ้านแค่นั้น 

ท่านบอกต่อว่า ชีวิตส่วนใหญ่ของท่านอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย สร้างวัดไว้กว่า 30 วัด ภายในวัดท่านกำลังก่อสร้างดูแล้วใหญ่โตอลังการ ภายใต้การอุปถัมภ์ของ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เจ้าอาวาสวัดไตรมิตร เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

การเดินทางสัญจรแบบไม่เร่งรีบแบบนี้ การไปเจอไปสัมผัสกับวิถีชีวิตพระต่างจังหวัด พระในชนบททำให้รู้ว่า “พระของประชาชน” ยังมีอีกมากมายในสถาบันสงฆ์!!

………………

คอลัมน์ : ริ้วผ้าเหลือง

โดย….“เปรียญสิบ” : [email protected]

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img