นายกรับมนตรี ร่ายยาวเล่าภารกิจลงพื้นที่”ภูเก็ต”หวังเป็นโมเดลของ “เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า พี่น้องประชาชนที่รักครับ
ช่วงบ่ายวานนี้ (6 พ.ค.65) ผมมีภารกิจสำคัญในการลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อสนับสนุนการผลักดันให้จังหวัดภูเก็ต สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด ปี 2566 – 2570 คือ การเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยว การศึกษา นวัตกรรมบริการ ในระดับนานาชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่องในหลายเรื่อง ทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) ที่มีความจำเป็นในการพัฒนาต่อยอดให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Hub) ศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ (Medical Service) ตลอดจนเป็นเมือง Smart City ที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทั้งจังหวัด รองรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต โดยผมได้เข้าร่วมกิจกรรมสำคัญ 2 โครงการ คือ
1.โครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Partnership School Project) ที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต เครือเซ็นทรัลกรุ๊ป วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต และโรงเรียนพุทธมงคลนิมิตร ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนกลุ่มเปราะบาง ยากจน ด้อยโอกาส ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้นักเรียนได้มีทักษะด้านภาษาอังกฤษ ทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล และทักษะความเป็นผู้ประกอบการ ตอบโจทย์การพัฒนาทรัพยากรคนและแรงงานในพื้นที่ ให้มั่นใจว่าเรียนจบแล้วมีงานทำแน่นอน
2.การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่จัดขึ้นเพื่อระดมสมอง ในการกำหนดยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของไทย ภายใต้ชื่อ Thailand Tourism Congress 2022 โดยในกิจกรรมนี้ ผมได้มอบ “ยุทธศาสตร์แห่งรอยยิ้ม” หรือที่เรียกตัวย่อว่า “SMILES” สำหรับเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดรอบด้าน และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลก ดังนี้
S – Sustainability คือ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ทั้งเรื่องการใช้พลังงาน Carbon Footprint ไปจนถึง Food Waste
M – Manpower คือ ให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์ทางด้านการท่องเที่ยว ที่มีทักษะในระดับนานาชาติ แต่รักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทยได้อย่างมีเสน่ห์
I – Inclusive Economy คือ ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม จากคนทุกเพศ ทุกวัย เด็ก คนชรา ในการออกแบบสถานที่การท่องเที่ยวที่ตอบสนองคนทุกกลุ่ม และสร้างโอกาสในการทำงานด้านการท่องเที่ยวให้กับผู้ด้อยโอกาส
L – Localization คือ ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่
ชูจุดเด่นที่แตกต่างกัน โดยนำมาร้อยเรียงกันและสนับสนุนกัน ซึ่งผมอยากเห็นการเชื่อมโยงของภูมิภาค ที่สามารถนำกลุ่มจังหวัดไปประสานและสอดรับกันได้
E – Ecosystems คือ ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศทางการท่องเที่ยว
ทั้งเรื่องระบบนิเวศธรรมชาติและระบบนิเวศทางธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงการลดเงื่อนไขและขั้นตอนทางด้านกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีภูมิต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลงได้
S – Social Innovation คือ ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้านสังคม
ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ผมคาดหวังว่าจังหวัดภูเก็ต จะเป็นโมเดลของ “เมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ” ที่สามารถแชร์และต่อยอดความสำเร็จนี้ ไปสู่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ของประเทศไทย เช่นเดียวกับที่เคยทำสำเร็จมาแล้วจากโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน เกิดการกระจายความเจริญ กระจายรายได้ สร้างงาน สร้างอาชีพ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ในแต่ละท้องถิ่น ชูความโดดเด่นของท้องถิ่นสู่ระดับสากลต่อไปครับ